xs
xsm
sm
md
lg

สระแก้วประกาศสงครามไข้เลือดออก-หวัดนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดสระแก้ว เดินหน้าโครงการรณรงค์ประกาศสงครามต่อสู้ไข้เลือดออก และไข้หวัดนกในพื้นที่ชายแดน

นายชูศักดิ์ ตรีสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ประกาศสงครามต่อสู้ไข้เลือดออก และไข้หวัดนกในพื้นที่ชายแดน ที่จัดขึ้นที่ สนามโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว สำนักงานสาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ และโรงพยาบาลอรัญประเทศ และมีผู้เข้าร่วมรณรงค์ประมาณ 1,000 คน

โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เผยว่า จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนติดกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย และจังหวัดพระตะบอง ของประเทศกัมพูชา โดยไม่มีพรมแดนทางธรรมชาติขวางกั้น ระยะทาง 165 กิโลเมตร มีจุดผ่อนปรนทางการค้า 3 แห่ง และจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง ซึ่งเฉพาะจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก มีชาวไทย ชาวกัมพูชา และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า-ออก ประมาณ 10,000-15,000 คนต่อวัน

ซึ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาจส่งผลให้มีการการติดต่อสื่อสาร และการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าสู่จังหวัดสระแก้วมากขึ้น และเมื่อมีโรคระบาด และภัยสุขภาพเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาย่อมส่งผลกระทบต่อจังหวัดสระแก้วอย่างเลี่ยงไม่ได้

และจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อที่สำคัญร่วมกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย พบว่า ในปี 2555 จังหวัดสระแก้ว มีผู้ป่วยไข้เลือดออก 774 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดบันเตียเมียนเจย มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าจังหวัดสระแก้วประมาณ 2 เท่า คือ 1,839 ราย เสียชีวิต 3 ราย

สำหรับข้อมูลปี 2556 ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จังหวัดสระแก้ว พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 50 ราย ส่วนจังหวัดบันเตียเมียนเจย พบผู้ป่วย 39 ราย โดยในปีนี้ทั้งสองจังหวัดยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต

ขณะที่โรคไข้หวัดนก ในปี 2555 จังหวัดบันเตียเมียนเจย มีผู้ป่วย และเสียชีวิต 1 ราย ส่วนในปี 2556 ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศกัมพูชาแล้ว 10 ราย เสียชีวิต 9 ราย กระจายอยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำโพด ตะแก้ว พนมเปญ กำปงสปือ กำปงจาม และกำปงทม ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดสระแก้ว ประมาณ 350 กิโลเมตร สำหรับจังหวัดสระแก้ว ยังไม่เคยมีผู้ป่วยไข้หวัดนก

จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการสำคัญเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลโรค และภัยสุขภาพอย่างรวดเร็ว โดยเน้นโรคติดต่อที่สำคัญ เช่น ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก มาลาเรีย วัณโรค อหิวาตกโรค โรคซาร์ส

ในส่วนของโรคไข้หวัดนก จะมีการร่วมรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคตามแนวชายแดน โดยความร่วมมือของส่วนราชการต่างๆ เช่น ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ด่านกักกันสัตว์ ปศุสัตว์ กองกำลังบูรพา สำนักงานประสานความร่วมมือชายแดนไทย กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองผู้ผ่านแดนที่มีอาการไข้สูงอย่างเข้มข้น ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถที่บรรทุกสินค้าผ่านแดน

ตั้งจัดจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ซากสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก การจัดเตรียมเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรค บุคลากร ยารักษาผู้ป่วย และห้องแยกสำหรับรับผู้ป่วย พร้อมทั้งให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น