xs
xsm
sm
md
lg

อนาถผลศึกษา สวล.กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงไม่คืบ จี้ รบ.ปู ของบก้อนใหม่ให้ อพท.ศึกษาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนา “กระเช้าภูกระดึง เพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ”  ที่ลานเอนกประสงค์อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย
เลย-อพท.จัดเสวนา โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ภาคเอกชนในพื้นที่เห็นควรเร่งสร้าง เชื่อพัฒนาสังคมกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่รับเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ส่วนมูลนิธิสืบฯ นักท่องเที่ยวค้าน เกรงทำลายสิ่งแวดล้อม ชี้การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไร้ความคืบหน้า หน่วยงานรัฐละเลงงบไปใช้ด้านอื่น จ่อของบประมาณมาศึกษาใหม่อีกครั้ง

วันนี้ (16มี.ค.56) ที่ลานอเนกประสงค์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อ.ภูกระดึง จ.เลย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)หรือ อพท. จัดเวทีเสวนาภาคีเครือข่าย ครั้งที่ 1 หัวข้อ “กระเช้าภูกระดึง เพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ” โดยมี พันเอกดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. , ดร.สมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , นายนพรัตน์ นาคสถิตย์ กรรมการมูนนิธิสืบนาคะเสถียร , นายฑิตศักดิ์ สุริยาชัยวัฒนะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ร่วมเสวนา

ภาคเอกชนเห็นควรสร้าง
เชื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ดร.สมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เอกชนได้ผลักดันเรื่องการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า มาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว หอการค้าจังหวัดเลย ได้เข้าพบและปรึกษาหารือ กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดเลย และได้อนุมัติให้ศึกษา โดยตั้งงบประมาณครั้งนั้นจำนวน 400 ล้านบาท แต่เรื่องก็ได้เงียบไป

เกิดกระแสอีกครั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าสำเร็จ จะทำให้เศรษฐกิจ ของจังหวัดเลย มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งชาวบ้านในเขตตำบลศรีฐาน และชาวบ้านรอบอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ลืมตาอ้าปากได้

ด้านนายคุณาวุฒิ บุดดาดวง ประธานคณะกรรมการรณรงค์สร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง กล่าวว่า ชาวภูกระดึงมีความต้องการกระเช้าฯ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องการให้ใครที่ไม่ใช่คนภูกระดึงมาอ้างสิทธิ์บอกว่าสร้างหรือไม่สร้าง โดยเฉพาะพวก เอ็นจีโอ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์สุดโต่ง จนไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ ให้เหลียวมามอง คนภูกระดึงบ้างว่า พวกเราก็อยากพัฒนาบ้านของตัวเองเหมือนกัน อย่ามาขวางกันเลย

ส่วนนายฑิตศักดิ์ สุริยาชัยวัฒนะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กล่าวว่า ทางอุทยานได้สอบถามชาวบ้าน และบรรดาลูกหาบ ต่างได้รับคำตอบมาว่าต้องการกระเช้าไฟฟ้า เนื่องจากลูกหลาน ไม่สนใจมาเป็นลูกหาบ ขณะที่ลูกหาบรุ่นเก่าจะมีแต่เกษียณ ทางอุทยานไม่มีอำนาจไปตัดสินใดๆ รอฟังคำสั่งจากรัฐบาลอย่างเดียว

หวั่นทำลายธรรมชาติ
นักท่องเที่ยวไม่ต้องการ

ด้านนายนพรัตน์ นาคสถิตย์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า มีการประเมินทางด้านเศรษฐกิจ อ้างว่า จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้ามาเที่ยวภูกระดึงได้ทั้งปี ซึ่งขัดกับความเป็นจริง ฤดูการท่องเที่ยวที่เหมาะสมส่วนใหญ่นักท่อเที่ยวจะเข้ามามากในช่วงฤดูหนาว เริ่มจากเดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งธรรมชาติจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

หลังจากนั้นธรรมชาติจะฟื้นตัวเองราว 7 เดือน จึงถึงฤดูการท่องเที่ยวอีกครั้ง เป็นวัฏจักรที่เป็นมากว่า 50 ปี หลังจากที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2505 ถ้าปล่อยให้นักท่องเที่ยวขึ้นมาทั้งปี จะทำให้ธรรมชาติไม่สามารถฟื้นตัวได้เอง และจะไม่สวยอย่างที่ตั้งใจมา น่าจะเป็นการทำลายการท่องเที่ยวเสียมากกว่า

ด้านนายปริพนธ์ วัฒนะขำ ประธานกลุ่มกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนหน่อไม้หวานจังหวัดเลย กล่าวว่า ภูกระดึง ไม่ใช่เป็นของคนภูกระดึงอย่างเดียว ภูกระดึงเป็นของชาวไทยทุกคน ที่ควรมีส่วนร่วมตัดสินใจว่า ควรสร้างหรือไม่สร้าง ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ต้องคำนึงถึง อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของคนในพื้นที่ เกรงว่าหลังสร้างกระเช้าไฟฟ้าแล้ว จะทำให้สิ่งเหล่านั้นหายไป หรือถ้าจะมีมติสร้าง ทุกคนต้องมาลงลายชื่อ เพื่อรับผิดชอบร่วมกัน หากทุกอย่างล้มเหลวไม่เป็นไปอย่างที่ทุกคนหวังให้เป็น

ด้านตัวแทนนักท่องเที่ยว กลุ่มรักษ์ภูกระดึง ที่เปิดในเวปไซต์พันธ์ทิพย์ดอทคอม กล่าวว่า ในเวปไซต์ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตามเจตนารมณ์ของผู้เปิดเวปไซต์ ที่มีความเห็นต่าง แต่ส่วนใหญ่คัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้า เนื่องเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งเดียว ที่คนอยากมาเที่ยวมากที่สุด และขออย่ามองพวกเราเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ค้านทุกเรื่อง เราควรสงวนทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ยังคงเหลืออยู่ เป็นสมบัติอันล้ำค่า ตกไปสู่ลูกหลานต่อไป

นอกจากนี้นายสิทธิชัย สิทธิรัตน์ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้า เกรงว่า ชาวบ้านที่ค้าขายสินค้า ระหว่างทางจะหมดไป เพราะร้านค้าบนจะถูกนายทุนจากต่างแดนเข้าหุบกิจการ ซึ่งจะมีทั้งทุน และอำนาจทางการเมืองเข้ามา ขณะเดียวกันการขึ้นค่าระวางค่าหาบสิ่งของจาก กก.ละ 15 บาท เป็น 30 บาท จะเป็นการทำลายนักท่องเที่ยว

ยิ่งมีกระเช้าไฟฟ้า ค่าบริการอาจสูงขึ้น จนนักท่องเที่ยวไม่มาเที่ยว เป็นการทำลายภูกระดึง อย่างคาดไม่ถึง โดยมีกรณีตัวอย่าง ของเหมืองทองคำที่วังสะพุง ที่ทุกคนหวังว่า เหมืองทองคำจะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ สุดท้ายเงินค่าภาคหลวง ไม่ได้คืนมาให้กับท้องถิ่น กลับสร้างมลภาวะเป็นพิษให้กับชาวบ้าน

ผลศึกษากระทบด้านสิ่งแวดล้อมไร้ความคืบหน้า
หน่วยงานรัฐแปรงบศึกษาฯไปทำด้านอื่น

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.อพท. กล่าวว่า ทาง อพท.ไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านการสร้างกระเช้าภูกระดึง กลับห่วงใยว่า ต้องได้ข้อมูลที่เด่นชัด ถึงจะสามารถตัดสินใจว่า ควรจะสร้างหรือไม่สร้าง ซึ่งทางรัฐบาลมีคำสั่งให้ อพท.ร่วมกับกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปทำการศึกษาร่วมกัน โดยใช้งบประมาณมา 20 ล้านบาท แต่ทาง อพท.ยังไม่เห็นเงินจำนวนนี้
เลย ซึ่งทาง อพท.จะได้ดำเนินการทวงถามไปยังรัฐบาลอีกครั้ง

การจะสร้างหรือไม่นั้น ต้องไปทบทวนผลการศึกษาปี 2542 อพท.ได้ทำเรื่องถามไปเมื่อเดือน เมษายน 2555 และได้รับคำตอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติกลับมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 ว่า ให้ อพท.เป็นผู้ของบประมาณเอง ซึ่งได้ครบระยะเวลาการยื่นของบประมาณไปแล้วเมื่อกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ต้องยื่นของบไปใหม่ในปี 2557 หากได้รับอนุมัติ จะสามารถหาผู้ที่เหมาะสมที่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไปได้ ซึ่งต้องเปิดเผย โปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง การที่จ.เลย มีส.ส.นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงกับเรื่องนี้ น่าจะพูดคุยได้ง่าย มีโอกาสมากขึ้น โดยอพท.ก็จะทำตามมติ ครม.ต่อไป

ขณะที่นายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการ้าภาคอีสานตอนบน เปิดเผยหลังการเสวนาว่า ทางจังหวัดเสนอของบมาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการกระเช้าไฟฟ้า เมื่อ 11ก.พ.2555 ขณะนี้มีการแปรผันเอางบไปใช้อย่างอื่น จึงเป็นปัญหาสำคัญ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครางการกระเช้าไฟฟ้า เป็นเวลากว่า 1 ปีไม่มีความคืบหน้า

อยากฝากไปยังจังหวัดเลย และรัฐบาล ให้เร่งรัดจัดหางบประมาณกลับมาให้ อพท.ดำเนินการศึกษาใหม่ และหากเป็นไป ควรศึกษาให้เสร็จภายในปี 2557 เพราะหากโครงการล่าช้าจะยิ่งเสียโอกาส หากการสร้างกระเช้าไฟฟ้าสำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวภูกระดึง รวมถึงภาคอีสาน เป็นการสร้างงาน พัฒนาสังคมโดยรวมด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรรีบพิจารณา โดยเฉพาะปี 2558 จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น ประชาชน 680 ล้านคนจะเดินทางไปมาสะดวกขึ้น

พันเอกดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท.
กำลังโหลดความคิดเห็น