xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้วหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ผอ.แจงเชียงใหม่ยังไม่เริ่ม รอชาวบ้านเก็บผลผลิตก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เปิดแล้วหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบนที่เชียงใหม่ ผอ.ศูนย์ฯแจงตั้ง 2 จุด เชียงใหม่-พิษณุโลก ดูแลภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง เฉพาะตอนบนเตรียมเครื่องบิน 3 ลำพร้อมออกทำฝนเทียมยาวถึงสิ้น ก.ย. ระบุสองสัปดาห์จากนี้ยังไม่ทำ รอชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นางละไมพร วณิชย์สายทอง เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายทรง กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และนางสันทนีย์ ไชยเชียงพิณ ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ร่วมแถลงข่าวการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ปี 2556

หน่วยดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ภายใต้การดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การเพิ่มน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำ รวมทั้งการร่วมแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ด้วยการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ จ.เชียงใหม่ 1 หน่วย และหน่วยรับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่ จ.พิษณุโลกอีก 1 หน่วย ดำเนินการถึงวันที่ 30 กันยายนนี้

นายทรงกล่าวว่า ภารกิจหลักของศูนย์จะเน้น 3 ด้าน ประกอบด้วย ให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนจะเน้นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ และลดความรุนแรงของไฟป่าและมลพิษทางอากาศ ส่วนฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมจะเน้นเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เพาะปลูกที่ขาดแคลนน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำใในเขื่อนสำคัญ

“หน่วยที่เชียงใหม่ได้เตรียมเครื่องบินสำหรับปฏิบัติงาน 3 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบกาซ่า 1 ลำ และแบบคาราแวน 2 ลำ โดยจะวิเคราะห์สภาพอากาศและวางแผนดำเนินงานทุกวัน ช่วงนี้สภาพอากาศถือว่าเหมาะสมและมีโอกาสที่จะเกิดฝนได้ อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 สัปดาห์จากนี้จะยังไม่นำเครื่องบินขึ้นบินทำฝนใน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากต้องทิ้งระยะให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จก่อน แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง อาทิ หมอกควันไฟป่ายกระดับรุนแรง ก็จะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อตัดสินใจว่าจะทำฝนเทียมหรือไม่”

นางละไมพรกล่าวว่า สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลในส่วนของเกษตรกร และการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยช่วงนี้ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน ซึ่งหากทำฝนเทียมแล้วจะส่งผลดีต่อพืชเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มของผลไม้ เช่น มะม่วง และลำไย ซึ่งกำลังเริ่มติดผลหรือติดดอก และต้องการน้ำเพื่อให้ผลผลิตสมบูรณ์ ได้คุณภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น