เชียงราย - มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ หนุนเทศบาลนครเชียงรายเดินเครื่องฟื้นฟู “แม่น้ำกกน้อย” ที่สิ้นสภาพแม่น้ำ วัชพืชคลุมเต็มพื้นที่ ทิ้งแนวคิดขุดลอก-ก่อสร้าง หันมาใช้ธรรมชาติ-วัฒนธรรมบำบัด
วันนี้ (12 มี.ค.) นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เป็นประธานเปิดการเสวนาตามโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ และส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน พื้นที่แม่น้ำกกน้อย ที่โรงแรมริมกก รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนจากชุมชนที่อยู่ติดแม่น้ำกกน้อย เยาวชนเข้าร่วมจำนวนมาก
นายวันชัยกล่าวว่า ขณะนี้ตัวเมืองเชียงรายมีแนวโน้มขยายตัวด้านวัตถุและสิ่งปลูกสร้างอย่างไม่หยุดยั้ง เทศบาลในฐานะที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ โดยจะเน้นปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะแม่น้ำกกสายในที่ไม่มีน้ำไหลผ่าน และมีวัชพืชขึ้นอยู่เต็ม ไม่เน้นก่อสร้างคอนกรีตหรืออื่นๆ แต่จะเป็นลักษณะการอนุรักษ์สิ่งที่ดีเอาไว้ ซึ่งเข้ากับรูปแบบของโครงการ ที่เน้นอิงกับหลักธรรมชาติและภูมิปัญญา
สำหรับโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศ เกิดขึ้นโดยการดำเนินการของโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชีย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asia Cities Change Resilience Network) หรือ ACCCRN เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ 59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริม 10 เมืองนำร่องใน 4 ประเทศของเอเชีย ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทยได้เลือกอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจ.เชียงรายระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2558
ในส่วนของเชียงราย กรณีของแม่น้ำกกน้อยหรือแม่น้ำกกสายในได้พัฒนาตลอดแนวแม่น้ำที่ไหลแยกออกมาจากแม่น้ำกกสายหลัก บริเวณชุมชนเทิดพระเกียรติ และไหลผ่านชุมชนเกาะลอย ชุมชนกองยาว ชุมชนรั้วเหล็กใต้ และชุมชนรั้วเหล็กเหนือ แต่สภาพปัจจุบันแห้งขอด แทบไม่มีน้ำไหลผ่าน รวมทั้งมีวัชพืชขึ้นเต็ม เป็นที่รองรับน้ำเสียจากตัวเมือง ดังนั้นจึงเข้าไปนำร่องในระยะทางประมาณ 550 เมตร ครอบคลุมชุมชนรั้วเหล็กเหนือ รั้วเหล็กใต้ และเกาะลอย เริ่มจากการปรับขอบด้านข้างและขุดลอก ปลูกพืชต่างๆ แทนวัชพืช ซึ่งถือเป็นวิธีการที่แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่เน้นการขุดลอก แผ้วถางวัชพืชอย่างเดียว แต่น้ำก็ไม่ไหลผ่านและมีวัชพืชขึ้นเต็มเหมือนเดิม
ดร.จิรศักดิ์ จินดาโรจน์ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ปัญหาแม่น้ำที่ตื้นเขินและแม่น้ำตายเกิดขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับแม่น้ำกกน้อย ปัจจุบันกลายเป็นบึงยาวหรือแห้ง โดยมีน้ำขังอยู่ในบางช่วง ดังนั้นโครงการจึงใช้หลักการเรียนรู้ธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะตามปกติแล้วหญ้าที่เราเห็นว่าเป็นวัชพืช สัตว์ที่อาศัยอยู่ ล้วนมีหน้าที่ของตัวเอง เพียงแต่เราจะนำวิทยาศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“ปัจจุบันได้ดำเนินการตาม 3 ขั้นตอน คือ ฟื้นฟูระบบนิเวศเดิมก่อน ด้วยการขุดดินที่อยู่ด้านใต้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ นำมาไว้ตรงขอบเพื่อปลูกพืชที่ต้องการ ร่วมมือกับชุมชนยุติการบุกรุกเพิ่มเติม และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสียของหน่วยงานที่ใกล้เคียง จากนั้นทุกฝ่ายก็จะเรียนรู้ร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นแม่น้ำที่ตายแล้วสายเดียวในโลกที่ฟื้นฟูขึ้นมาได้”