เชียงราย - ชาวบ้านชุมชนหน้าด่านพรมแดนแม่สาย 221 เฮ รับมอบโฉนดที่ดินแล้ว หลังเรียกร้องมาตลอด 50 ปีไม่เป็นผล รัฐไม่เหลียวแล แต่กลับออกโฉนดให้นายทุน จนล่าสุดยกคณะบุกยื่นหนังสือต่อหน้า “ปู” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังต้องรอต่อ
วันนี้ (8 มี.ค. 56) นายมนัส โสกันธิกา รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีมอบโฉนดที่ดินตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดินทั่วไทยถวายไท้พ่อหลวงของปวงชน” ที่หอประชุมพระเจ้าพรหมมหาราช ฉลอง 750 ปีเมืองเชียงราย ที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยมีนายวิษณุ ธันวรักษ์กิจ เจ้าพนักงานที่ดิน จ.เชียงราย นำชาวบ้านจากพื้นที่ ม.2 และ ม.10 ต.แม่สาย จำนวน 221 ราย เข้ารับมอบโฉนดที่ดินรวมเนื้อที่ทั้งหมด 36 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา และมีการเชิญ ส.ส.-หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
โดยที่ดินที่กรมที่ดินได้ออกโฉนดให้ดังกล่าวเป็นที่ดินหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า ที่เป็นชุมชนหนาแน่นและชาวบ้านได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องขอเอกสารสิทธิมานานกว่า 50 ปี และเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดกลุ่มชาวบ้านบุกเข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ชายแดนแม่สาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 56 ที่ผ่านมานี้เอง
นายมนัสกล่าวว่า การมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นไปตามโครงการของกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการมอบเอกสารสิทธิให้แก่ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินมานานและเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับมอบ แต่ในพื้นที่เดียวกันนี้ก็มีที่ดินที่ชาวบ้านได้ร่วมกันเรียกร้องแต่ยังไม่ได้รับโฉนดอีก จึงขอแจ้งว่าการจะได้รับมอบหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ 2 ขั้นตอนซึ่งสำคัญมาก คือ ต้องมีการสำรวจว่าที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่จำนวนเท่าไหร่ และใครเป็นผู้ถือครองเท่าไหร่ อย่างไร เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วก็จะง่ายต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต่อไป
ด้านนายวิษณุกล่าวว่า พื้นที่หน้าด่านพรมแดนแม่สายเป็นปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านมานานก็จริง แต่การมอบโฉนดครั้งนี้เป็นที่นอกแนวเขตที่ประกาศเป็นที่สาธารณะ โดยเดิมอยู่ในเขตประเทศพม่า แต่เมื่อลำน้ำสายเปลี่ยนทิศเมื่อปี 2483 จึงมีการใช้ข้อตกลงระหว่างไทยและอังกฤษ ปรากฏว่าเกิดที่งอกเงยเข้ามาในฝั่งไทยจึงทำให้ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นของประเทศไทยไปด้วย ซึ่งทางการพม่าก็ยอมรับ เมื่อมีชาวบ้านเข้าไปถือครองทำกินและอยู่อาศัยจึงกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เกิดใหม่และยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสาธารณะแต่อย่างใด แตกต่างจากพื้นที่ข้างเคียงที่ชาวบ้านเรียกร้องขอโฉนดที่ดินเช่นเดียวกันเพราะที่ดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะเรียบร้อยแล้ว
นายวิษณุกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่สาธารณะแต่เมื่อมีการเรียกร้องก็ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ดำเนินการตรวจสอบให้ไปพร้อมๆ กับที่อยู่นอกที่สาธารณะดังกล่าว ซึ่งตามนโยบายของแต่ละรัฐบาลก็ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเอกสารสิทธิที่ดินอยู่แล้ว เมื่อผ่านขั้นตอนระดับอำเภอ จังหวัด และไปถึงกระทรวงมหาดไทยก็มักจะมีการส่งกลับมาให้ตรวจสอบใหม่อยู่ร่ำไปเพื่อความถูกต้อง เพราะตามปกติแล้วการจะถอนที่สาธารณะออกไปต้องละเอียดรอบคอบ เพราะหากที่ใดที่หนึ่งถอนได้ก็อาจเป็นข้ออ้างของที่สาธารณะแห่งอื่นๆ ของประเทศที่อยากจะขอถอนเพื่อให้นำไปออกเอกสารสิทธิกันบ้าง ปัญหาก็จะเกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น
ดังนั้น กรณีของที่ดินที่ยังไม่ได้รับโฉนดที่ดินโดยอยู่ในที่สาธารณะและชาวบ้านยังเรียกร้องอยู่คงต้องใช้เวลา ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับชาวบ้านบริเวณดังกล่าวว่าจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดที่ดินหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านที่ถือครองอยู่ไม่ยอมให้รังวัด เนื่องจากเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะนำไปออกเป็นที่ดินหนังสือสำคัญของหลวง (นสล.)
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงราย ยังมีที่ดินที่ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันอีก 3 สายสำรวจ มีเป้าหมายทั้งสิ้นจำนวน 1,920 แปลง ล่าสุดจะไปดำเนินการที่ อ.เทิง จำนวน 1,200 ไร่ซึ่งสภาพปัญหาคล้ายกับที่ อ.แม่สายเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า อ.แม่สาย ยืดเยื้อมานานโดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ฝั่งขวาของถนนพหลโยธิน ตรงสิ้นสุดชายแดนโดยเป็นชุมชนหนานแน่น ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 3 หมู่บ้าน คือ ม.2 ม.7 และ ม.10 ต.แม่สาย มีเนื้อที่รวมประมาณ 57 ไร่ มีประชากรรวมกันกว่า 6,000 คน ในจำนวนประมาณ ุ600 หลังคาเรือน ดังนั้นหลังการมอบโฉนดที่ดินครั้งนี้จึงทำให้มีชาวบ้านที่คงค้างอยู่ในบริเวณเดียวกันและอยู่ในที่ดินสาธารณะประมาณ 400 หลังคาเรือน
ด้านนายปรีชา ศรีเพชร อดีตปลัด อ.แม่สาย และแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านร่วมกันเรียกร้องมานานกว่า 50 ปี แต่ปรากฏว่าหลังเรียกร้องหน่วยงานราชการก็ค่อยๆ ออกโฉนดที่ดินให้เฉพาะบางพื้นที่ ดังนั้นพวกเราจะเรียกร้องให้ถึงที่สุดเพราะยังเหลือพื้นที่หมู่ 7 อยู่อีกกว่า 400 หลังคาเรือนดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมที่ดินเคยตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบ และแจ้งหนังสือให้เพิกถอนการเป็นที่สาธารณะเสียเพื่อจะได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ชาวบ้าน
แต่ปรากฏว่าทางจังหวัดโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานก็ไม่ได้ทำและกลับส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงมหาดไทย ช่วงนั้นก็มีการสำรวจที่ดินข้างเคียงและออกโฉนดที่ดินให้ไปเรื่อยๆ เสมือนหนึ่งว่าผู้เรียกร้องมาตั้งแต่ต้นไม่ได้รับประโยชน์อันใด แต่เป็นเหตุทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปออกโฉนดให้ที่ดินข้างเคียงไปเสีย
“วันที่ 13 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ผมและชาวบ้านอีก 400 หลังคาเรือนดังกล่าวจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมและนำเอกสารหลักฐานที่ทางอำเภอ จังหวัด และกระทรวงมหาดไทยเคยเห็นชอบร่วมกันให้มีการเพิกถอนการเป็นที่สาธารณะของพื้นที่ ม.7 แต่ก็มีการส่งเรื่องกลับกันไปมาโดยไม่ดำเนินการ” นายปรีชากล่าว