xs
xsm
sm
md
lg

คนแม่สายโวยซ้ำผู้ว่าฯ โยนกลองไม่เลิกที่สาธารณะ แต่นายทุนกลับได้โฉนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กลุ่มชาวบ้านชุมชนชายแดนแม่สายฮือบุกศาลากลางฯซ้ำ หวิดวุ่นถูก ตร.ขวาง จนต้องทิ้งรถเครื่องเสียงเข้าเรียกร้องให้จังหวัดเคลียร์ปัญหาเอกสารสิทธิที่ดิน หลังอยู่กันมานานกว่า 50-60 ปี กลับบอกเป็นที่สาธารณะ ทั้งที่ กบร.-กรมที่ดิน บอกแล้วบอกอีกไม่ที่บุกรุก แต่ที่ดินนายทุนกลับได้โฉนดเฉย ขู่ให้จัดการใน 7 วันก่อนยื่นฟ้องระนาว

วันนี้ (18 ก.ย.) กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งลำน้ำสาย ชายแดนไทย-พม่า จาก ม.2 ม.7 และ ม.10 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 คนนำโดยนายปรีชา ศรีเพชร อดีตปลัด อ.แม่สาย ได้พากันไปชุมนุมเรียกร้องให้ทางจังหวัดแก้ไขปัญหา กรณียังไม่มีออกเอกสารสิทธิที่ดินให้กับกลุ่มชาวบ้านมานานกว่า 50-60 ปี

นายปรีชาประกาศว่า การชุมนุมเรียกร้องครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะหลังจากเรียกร้องมานานจนมีการตอบโต้กันด้วยเอกสารของทางราชการทั้งเทศบาล อำเภอ จังหวัด กรมที่ดิน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) มีหลักฐานเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาอยู่ที่ทางจังหวัดฯไม่ยอมอนุมัติ แต่กลับมีการโยนเรื่องให้ กบร.พิจารณาติดต่อกันมาแล้วหลายครั้ง

โดยนายปรีชาระบุว่า จะประกาศให้จังหวัดทราบว่าถ้ายังไม่อนุมัติอีก 7 วันจะยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดต่อศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการรัฐสภาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเดินทางไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย แจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ให้นำเครื่องเสียงเข้าไปปราศรัยภายในศาลากลางจังหวัด ทำให้นายปรีชาและชาวบ้านต่างตอบโต้กับนายตำรวจที่รับผิดชอบที่ปากทางเข้าศาลากลางอยู่พักใหญ่

โดยตำรวจระบุว่า ต้องได้รับอนุญาตการใช้เครื่องเสียงก่อน แต่นายปรีชา ระบุว่าได้สอบถามไปยังนิติกรศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอแล้ว สามารถทำได้ รวมทั้งช่วงที่จะเข้าไปยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมด้านปัญหานี้สินไปยื่นเรื่องต่อจังหวัดและใช้เครื่องเสียงประกาศด้วย แต่ไม่ถูกดำเนินการ อีกทั้งก่อนหน้านี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่มโดยบางกลุ่ม เช่น ม็อบลำไยถึงขั้นปิดถนนทางเข้าและใช้เครื่องเสียงประกาศเสียงดังกว่านี้ ฯลฯ

แต่ท้ายที่สุดทางตำรวจก็ไม่ยอมให้นำเครื่องเสียงเข้าไป ทำให้นายปรีชา นำชาวบ้านเดินเข้าไปชุมนุมตามเดิมโดยหันไปใช้โทรโข่งแทน

นายปรีชากล่าวว่า ที่ดินทั้ง 3 หมู่บ้านเป็นชุมชนหนาแน่นทางฝั่งขวาของถนนพหลโยธินหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ และประชากรรวมกันกว่า 7,000 คน 700 ครัวเรือน โดยชาวบ้านอาศัยอยู่มานานกว่า 60 ปี ไม่เคยได้รับเอกสารสิทธิที่ดิน แต่ปรากฏว่ามีที่ดินเอกชนบางรายที่ตั้งอยู่ปะปนกันได้รับเอกสารสิทธิ

ต่อมาเมื่อชาวบ้านชุมนุมเรียกร้องทำให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบ และทางอำเภอ เทศบาล ต่างระบุว่า เป็นที่อยู่อาศัยทางกระทรวง จึงให้เพิกถอนการเป็นที่สาธารณะเสีย เพื่อจะได้จัดสรรให้ประชากรที่หนาแน่น แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯกลับไม่ลงความเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะหรือเห็นควรให้เป็นที่จัดสรรแก่ประชาชน ทำให้เรื่องยืดเยื้อถึงปัจจุบัน

นายปรีชากล่าวอีกว่า นอกจากจะไม่ลงความเห็นใดๆ แล้วยังแจ้งให้ กบร.ตรวจสอบซึ่ง กบร.ก็ระบุว่าไม่ใช่ที่บุกรุก แต่จังหวัดกลับไปตรวจสอบที่ดินข้างเคียงอีก 44 ไร่ ซึ่งไม่มีบ้านเรือนหนาแน่นเหมือนผืนแรก โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ไม่ให้ใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ทะเบียน ทำให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาของชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้านล่าช้าออกไปอีก

และแม้การตรวจสอบถึงขั้นนี้ก็ยังระบุว่าที่ดินที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ไม่ได้บุกรุกใดๆ แต่อาศัยอยู่มานาน ก็ยังเกิดสิ่งที่น่าสงสัยที่สุดคือ ได้มีที่ดินผืนที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน และถูกระบุว่า เป็นที่ดินงอกเงยมาจากลำน้ำสาย ซึ่งควรจะเป็นที่สาธารณะอย่างแท้จริงกลับได้รับการออกเอกสารสิทธิ์จากกรมที่ดินเนื้อที่กว่า 60 ไร่อย่างหน้าตาเฉย ทำให้ชาวบ้านทนไม่ไหวอีกต่อไป

“หลังจากพวกผมได้เรียกร้องมานานแต่ทางจังหวัดกลับโยนเรื่องให้ กบร.พิจารณา กบร.เขาก็ส่งเรื่องกลับมาว่า ไม่ได้เป็นที่บุกรุก ล่าสุดพวกเราชุมนุมเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 55 ทำให้กรมที่ดินมีหนังสือลงวันที่ 12 ก.ย. 55 ไปให้จังหวัดและผม ระบุว่า กรมที่ดินไม่สามารถดำเนินการเสนอให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการใดๆ ได้เพราะทางจังหวัดยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็คือลงความเห็นว่าที่ดินทั้ง 3 หมู่บ้านเป็นที่สาธารณะหรือไม่ ทำให้เรื่องยืดเยื้อจนถึงปัจจุบัน”

นายปรีชากล่าวย้ำว่า เรื่องนี้มีการโยนเรื่องไปยังหน่วยงานที่เขาไม่เกี่ยวข้องให้พิจารณาทั้งๆ ที่หลายหน่วยงานเขาก็แจ้งให้ทางจังหวัดแล้วว่า เป็นหน้าที่ของจังหวัด ที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจ แต่กลับเพิกเฉย และไม่จริงใจต่อประชาชน เมื่อสอบถามก็เลี่ยงบาลีไปสอบถาม กบร.และเมื่อ กบร.แจ้งว่าไม่บุกรุก ก็แจ้งให้กรมที่ดินอีก เมื่อกรมที่ดินแจ้งกลับมาอีกว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่ดำเนินการให้อีก

“ครั้งนี้ชาวบ้านมาเรียกร้องก็กักรถเครื่องเสียงไว้อีกจึงเข้าข่ายลุแก่อำนาจและไม่จริงใจ ดังนั้น ชาวบ้านจะให้เวลาอีก 7 วัน และไม่ต้องตอบโต้หรือดำเนินการใดๆ อีก เพราะหลังจากนี้จะไปฟ้องตามหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวต่อไป”

ต่อมา นายโยธิน ประสงค์ความดี จ่า จ.เชียงราย และนายวิษณุ ธันวรักษ์กิจ เจ้าพนักงานที่ดิน จ.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวบ้านโดยระบุว่า ทางนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จะเป็นประธานการประชุม กบร.เชียงราย ในวันที่ 26 ก.ย. 55 นี้เพื่อแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ชี้แจงนายปรีชา และคณะก็ตอบโต้ว่า ทาง กบร.ระบุชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าไม่มีการบุกรุกที่ดินแล้วจะประชุมกันด้วยเหตุใด รวมทั้งกรมที่ดินก็แจ้งหนังสือระบุซ้ำมาในครั้งนี้อีก ดังนั้น กลุ่มชาวบ้านจะไม่รอฟังผลการประชุม แต่จะให้เวลาอีก 7 วัน

จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือระบุเนื้อหาระบุถึงการที่จังหวัดไม่ยอมรับว่าได้รับหนังสือจากกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว จึงให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดก่อนการฟ้องร้องด้วยจากนั้นจึงได้สลายตัวกลับ




กำลังโหลดความคิดเห็น