เชียงราย - สารพัดกลุ่มมวลชนแทรกกลางคนรอรับ “ปู” หน้าด่านพรมแดนแม่สาย พร้อมยื่นเรื่องร้องเรียนเพียบ จนทำให้นายกรัฐมนตรีถึงกับหน้าเสียหลังเจอกลุ่มมวลชนเจ้าของที่ดินทำเลทองริมน้ำสาย ใช้โทรโข่ง-เขียนป้ายประจานกระทรวงมหาดไทยกลางกลุ่มคนรอรับ เหตุไม่ยอมให้เอกสารสิทธิชาวบ้าน แต่กลับออกโฉนดให้นายทุนแทน
วันนี้ (13 ก.พ. 56) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยเข้าฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ชายแดน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ด่านพรมแดนไทย-พม่า ตรงสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ต.แม่สาย ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมด่านพรมแดนไทย-พม่า ตรงสะพานมิตรภาพข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 ท่ามกลางประชาชนที่ไปต้อนรับนับหมื่นคน
แต่ในกลุ่มคนที่มารอรับนั้นก็มีสารพัดกลุ่มมวลชนที่ไปยืนรอยื่นหนังสือร้องเรียนในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านจากชุมชนเกาะทรายเขต ม.2 ม.7 และ ม.10 อ.แม่สาย ซึ่งอยู่บริเวณฝั่งขวาของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 และเป็นชุมชนหนาแน่นหน้า ด่านพรมแดนแต่กลับไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ นอกจากนี้ มีกลุ่มชาวไทยลื้อที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงราย นำโดยนายเอกราช ลือชา นายกสมาคมไทยลื้อ จ.เชียงราย ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเรื่องสัญชาติ เพราะมีชาวไทยลื้อที่ยังไม่ได้รับทั้งจังหวัดกว่า 1,000 คน เฉพาะ อ.แม่สาย มีประมาณ 300 คน
รวมถึงกลุ่มครูอัตราจ้าง นำโดยนายมารุด มูลคำ ก็นำมวลชนไปยื่นหนังสือขอให้ช่วยเหลือบรรจุครูอัตราจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการ, กลุ่มชาวบ้านจาก ม.8 ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย ที่ต้องการให้สร้างสถานีสูบน้ำเลี้ยงท้องนากว้างกว่า 7,000 ไร่ เพราะเคยไปยื่นหนังสือถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ แม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ก็ไปรอผ้าป่าด้วย
โดยกลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องเรื่องเอกสารที่ดินทำกิน พื้นที่ชุมชนเกาะทรายที่มีประมาณ 100 คนนั้นได้ใช้โทรโข่งกระจายเสียง รวมทั้งขึ้นป้ายเรียกร้อง ระบุถึงกระทรวงมหาดไทยในทางลบหลายอย่าง เช่น กระทรวงมหาดไทยไร้ซึ่งคุณธรรม กระทรวงมหาดไทยกลั่นแกล้งประชาชน กระทรวงมหาดไทยไร้ซึ่งธรรมาภิบาล ข้าราชการของแผ่นดินหรือของใคร กระทรวงมหาดไทยยุคเผด็จการ ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสอบถามและให้ข้อแนะนำว่าไม่ควรใช้ข้อความที่กระทบกระเทือน แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนยันถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญจึงใช้โทรโข่ง และขึ้นป้ายดังกล่าวอยู่
หลังจากนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปที่ด่านพรมแดนแห่งที่ 1 แล้ว ได้ไปพบปะกับประชาชนที่บริเวณสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 และเมื่อไปถึงบริเวณผู้ชุมนุมร้องเรียนเรื่องที่ดิน นายปรีชา ศรีเพชร อดีตปลัด อ.แม่สาย แกนนำกลุ่ม ได้ใช้โทรโข่งปราศรัยพร้อมยื่นหนังสือ โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.กระทรวงมหาดไทย ที่เดินตามนายกรัฐมนตรีไปด้วยด้วยท่าทีสนใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องเอาไว้ด้วยท่าทีที่ไม่สบายใจ เพราะตลอดเส้นทางการเดินมีประชาชนที่ไปต้อนรับด้วยดอกกุหลาบ แต่ปรากฏว่าที่หน้าด่านพรมแดนกลับมีกลุ่มผู้ร้องเรียนด้วยข้อความดังกล่าว แต่ก็รับปากว่าจะนำไปพิจารณาปัญหาต่อไป
นายปรีชากล่าวว่า ชาวบ้านเกาะทรายเรียกร้องให้ออกเอกสารสิทธิที่ดินริมฝั่งลำน้ำสายชายแดนไทย-พม่ามานานกว่า 50 ปี แต่ไม่ได้ เจ้าหน้าที่กลับไปออกเอกสารสิทธิให้กับที่ดินผืนอื่นที่เป็นของนายทุนแทน ทำให้ปัญหาหมักหมมถึงขณะนี้ โดยที่ดินทั้ง 3 หมู่บ้านดังกล่าวเป็นชุมนุมหนาแน่นทางฝั่งขวาของถนนพหลโยธินหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า ติดลำฝั่งลำน้ำสาย เนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ มีประชากรรวมกันกว่า 7,000 คน 700 หลังคาเรือน ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่มานาน แต่ปรากฎว่าพื้นที่ตอนกลางกลับมีการออกโฉนดให้กับเอกชนรายหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านเรียกร้องขอเอกสารสิทธิกันเรื่อยมาเพราะส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยและปัจจุบันกลายเป็นชุมชนหนาแน่นหน้าด่านแม่สาย แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล
“ที่ผ่านมากรมที่ดินเคยตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบ และเคยแจ้งหนังสือให้เพิกถอนการเป็นที่สาธารณะเสียเพื่อจะได้จัดสรรให้ประชาชน แต่ทางจังหวัดโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ซึ่งมีผู้ว่าฯเป็นประธานก็ไม่ได้ดำเนินการ กลับส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงมหาดไทยโดยไม่เสนอความเห็น ทั้งยังกลับไปตรวจสอบที่ดินผืนที่ 2 ที่อยู่ข้างเคียงอีก 44 ไร่ ซึ่งไม่มีบ้านเรือนหนาแน่นเหมือนผืนแรก โดยระบุให้มีการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่ไม่ให้ใช้วิธีการนี้ ในกรณีที่ทะเบียน ทำให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ย่านนั้นล่าช้าออกไปอีก”
นายปรีชากล่าวอีกว่า ที่น่าเจ็บใจคือ นอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านแล้วกลับมีการออกเอกสารสิทธิให้ที่ดินผืนที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ติดกันและเคยเป็นที่ดินงอกเงยมาจากลำน้ำสายอีกกว่า 60 ไร่ ทั้งๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวและนายทุน ที่พึ่งยื่นเรื่องไปได้เพียงแค่ 4 เดือน ปัจจุบันมีการขายกันไร่ละหลายล้านบาทแล้ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด้วยการเพิกถอนการเป็นที่สาธารณะเสีย
“หลังยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะไปร้องต่อกระทรวงมหาดไทย หรือศาลปกครองตามขั้นตอนต่อไป”