มหาสารคาม-ภัยแล้งมหาสารคามขยายวงกว้าง ล่าสุดแม่น้ำชีช่วงไหลผ่านอำเภอเมืองน้ำลด จนเห็นเนินทรายโผล่เป็นช่วงๆ หวั่นกระทบระบบประปามหาสารคาม ส่วนพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย แล้งหนักรอบ 20 ปี น้ำชีลดจนเกิด แก่งตาด กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแห่งใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม
นายสิทธิพล เสงี่ยม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงในรอบ 20 ปี ระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 10 เซนติเมตร จังหวัดมหาสารคามได้ทำหนังสือขอให้เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้ช่วยระบายน้ำต้นทุนลงมาเพิ่มเติม จากวันละ 8 แสนลูกบาศก์เมตรเป็น 1 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ได้ระบายน้ำลงมาเพิ่มเติมแล้ว แต่สถานการณ์ภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะที่บริเวณสถานีวัดปริมาณน้ำ E8A สะพานบ้านดินดำ อ.เมืองมหาสารคาม ระดับน้ำชีต่ำกว่าตลิ่ง 9.47 เมตร บางช่วงมีเนินทรายโผล่ให้เห็น ถือว่าสถานการณ์รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเขตจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากปริมาณน้ำเหลือน้อยเต็มที
ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง จังหวัดมหาสารคามได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 2,000 เที่ยว ปริมาณน้ำกว่า 10 ล้านลิตร และจะช่วยเหลือรประชาชนที่ประสบภัยไปจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย
ด้านนายเลิศบุศย์ กองทอง นายอำเภอโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม กล่าวว่า สถานการณ์แม่น้ำชีที่ไหลผ่านจังหวัดมหาสารคามยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 10 เซนติเมตร ส่งผลให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะที่อำเภอโกสุมพิสัย บริเวณภายในวนอุทยานโกสัมพี ซึ่งมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี ระดับน้ำลดลงจนเห็นแก่งหิน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า แก่งตาด
ชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า ตั้งแต่จังหวัดมหาสารคามมีงบประมาณสร้างแนวตลิ่งป้องกันน้ำท่วมเมื่อปี 2549 แก่งตาด ซึ่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ไม่เคยมีให้เห็นอีกเลย แต่มาปีนี้ถือว่าแล้งมากที่สุดในรอบ 20 ปี น้ำในแม่น้ำชีลดลงมาก แก่งตาด จึงโผล่ให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง
แก่งตาดเป็นหินดินดาน มีน้ำไหลลดหลั่นกันมาเป็นคลื่น เหมือนน้ำตกลดหลั่นกันมาเป็นชั้นๆ สวยงามแปลกตา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นอกจากจะมาพักผ่อนแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถมาให้อาหารแก่ลิงแสมขนสีเทาและขนสีทอง ที่มีแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย