ศูนย์ข่าวศรีราชา - รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราดตื่น จี้ 3 นายอำเภอรับผิดชอบประมงอวนลาก สาเหตุหลักทำโลมาอิรวดีตายต่อเนื่อง ขณะที่อดีตกำนันตำบลไม้รูด ชี้ 80% ตายขณะหาอาหาร อีก 20% ตายจากบาดเจ็บ เหตุหางติดเครื่องมือทำประมง
วันนี้ (22 ก.พ.) นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นประธานแก้ปัญหาการตายต่อเนื่องของกลุ่มโลมาอิรวดีในอ่าวตราด กล่าวถึงมาตรการเร่งด่วนว่า ได้สั่งการให้นายอำเภอเมือง นายอำเภอแหลมงอบ และนายอำเภอคลองใหญ่ แก้ปัญหาการทำประมงในพื้นที่อย่างจริงจัง หลังพบสาเหตุการตายมาจากการการติดเครื่องมือประมง พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ประมงร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ในการรักษาชีวิตโลมาที่เหลืออยู่
ขณะที่ นายสุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ อดีตกำนันตำบลไม้รูด อ.คลองใหญ่ กล่าวว่า สาเหตุการตายของโลมาอิรวดีที่มีถึง 19 ตัว ในช่วงเดือนมกราคม ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยเฉพาะวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ ที่พบซากโลมายถึง 9 ตัวนั้น ร้อยละ 80 เป็นการตายโดยเฉียบพลัน หรือตายขณะกำลังหากิน เพราะเมื่อผ่าท้องแล้วพบว่ามีอาหารอยู่ อีกร้อยละ 20 ตายเพราะได้รับบาดเจ็บจากการติดเครื่องมือประมงอวนลาก โดยพื้นที่ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ และ ต.แหลมกลัด อ.เมือง พบซากโลมาอิรวดีมากที่สุด
“สถิติ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2553 มีโลมาตาย 22 ตัว ปี 2554 ตาย 7 ตัว ปี 2555 ตาย 17 ตัว ปีนี้พบแล้ว 19 ตัว รวมทั้งหมด 65 ตัว และยังพบว่าข้อมูลการตายที่ยังไม่ได้จัดเก็บเข้าฐานข้อมูลของ อ.เกาะช้าง อีกกว่า 20 ตัว”
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า มีโลมาอิรวดีที่ชาวประมงช่วยชีวิตไว้ได้ 1 ตัว หลังถูกเชือกจากเครื่องมือประมงรัดบริเวณหาง โดยตั้งชื่อว่า “เจ้าโทน” ซึ่งศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดระยอง นำนักวิชาการจากโอเอซิส ซีเวิลด์ มาตรวจสอบ และหาวิธีช่วยชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์โลมาอิรวดีในอ่าวตราดน่าเป็นห่วง หากไม่เร่งแก้ไขโดยเร็ว”
ที่นายไชยันต์ การสมเนตร ประมงจังหวัดตราด กล่าวว่า กรมประมง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ได้แบ่งความรับผิดชอบชัดเจน คือ ประมงจะดูแลเรื่องสัตว์เศรษฐกิจ ส่วน ทสจ. จะดูแลสัตว์หายาก ยอมรับว่าโลมาที่ตายเกิดจากการติดเครื่องมือประมงทุกชนิด ซึ่งการแก้ปัญหาจะผลักดันให้ขยายเขตห้ามทำการประมงพาณิชย์จาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร