xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาอ่างทองยกขบวนจี้ชลประทานให้ความชัดเจนหลังประกาศปิดน้ำ 1 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - ชาวนาเมืองอ่างทอง และในพื้นที่พระนครศรีอยุธยากว่า 300 คน ยกขบวนขอความชัดเจนชลประทาน หลังประกาศหยุดการส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในวันที่ 1 มี.ค.นี้ โวยเพิ่งเริ่มทำนาได้หลังพื้นที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร แต่ต้องมาเจอกับปัญหาเรื่องน้ำอีก ขณะที่ชลประทานแจง น้ำต้นทุนน้อยแต่จะหาวิธีช่วยเหลือชาวนา

วันนี้ (21 ก.พ.) ชาวนาในพื้นที่ ต.สายทอง ต.โรงช้าง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และชาวนาใน อ.มหาราช และ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 300 คน ได้เดินทางเข้าร่วมฟังการชี้แจงโครงการจัดระบบการปลูกข้าวที่ศาลาการเปรียญวัดศรีมหาโพธิ์ ต.โรงช้าง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หลังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำนักชลประทานที่ 10 เตรียมที่จะหยุดการส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวนา ทำให้ชาวนาหลายรายต่างไม่พอใจ เนื่องจากเพิ่งจะมาเริ่มเพาะปลูกข้าวหลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมมาแล้ว

นายสมชาติ ยิ้มละม้าย เกษตรกรรายหนึ่งเปิดเผยว่า พื้นที่ในแถบนี้มีน้ำท่วมขังสูงกว่า 2 เมตรตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และไม่สามารถที่จะระบายน้ำออกได้เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม ทำให้ชาวนาต้องรอให้น้ำแห้ง และเริ่มเพาะปลูกได้เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ทางชลประทานจะปิดน้ำในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ทำให้นาข้าวที่เพิ่งเริ่มเพาะปลูกทั้งหมดนับพันไร่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเพิ่งเริ่มโตเพียงเดือนเศษเท่านั้น จึงอยากขอความเห็นใจจากทางชลประทานในการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพราะหากไม่มีน้ำแล้วจะทำให้นาข้าวเสียหาย

ขณะที่นายเสรี คงฤทธ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช สำนักชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า ทางกรมชลฯ ได้กำหนดการบริหารจัดการน้ำ โดยได้เตรียมน้ำไว้ 1,330 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมจะลดน้ำที่จะจ่ายลงครึ่งหนึ่ง และจะปิดการจ่ายน้ำซึ่งได้แจ้งเตือนไปยังท้องถิ่นต่างๆ แล้ว แต่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและมีแหล่งน้ำต้นทุนอยู่ในพื้นที่ ทางสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้คอยช่วยเหลือขอให้ประสานมา โดยน้ำที่เหลือต้องเก็บไว้ในฤดูกาลเพาะปลูกนาปีต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพื้นที่ทุ่งนาฝั่งตะวันออกของจังหวัดอ่างทอง มีสภาพเป็นแอ่งกะทะ ที่ผ่านมา เมื่อมีน้ำท่วมไม่สามารถระบายออกได้ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาในการใช้น้ำ ทำให้ชาวนาในพื้นที่เดือดร้อนเป็นอย่างมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น