xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดรับฟังความคิดเห็น กรณีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - สนข.เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนในเรื่องของผลกระทบ และร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้า 5 ปี ผู้ว่าฯ อปท.นักธุรกิจ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่อยากให้พิจารณาเรื่องสถานี ควรหาที่ตั้งนอกเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เนื่องจากปัจจุบันตัวเมืองมีความหนาแน่น

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ห้องประชุมโรงแรมฮิลตัล หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนางชนินนาถ เก้าสำราญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการขนส่ง และการจราจร (สนข.) ดร.พิเชฐ คุณธรรมรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและจราจรระหว่างเมือง สนข. ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำเสนอสาระสำคัญ แนวเส้นทางคัดเลือก และประโยชน์จากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชนใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมสัมมนากว่า 120 คน โดยมีนายชัยวัฒน์ ศีตะจิตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ก่องกนก เมนะรุจิ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สนข. ตอบข้อซักถามผู้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อต่างๆ

ตัวแทน สนข.กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์สุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา มูลค่าการลงทุน 4 สาย 4.81 แสนล้านบาท เปิดบริการภายในปี 2561 โดยมอบหมายให้ สนข.ศึกษา และออกแบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งเส้นทางสายนี้ใช้เงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ในการประชุมได้นำเสนอประโยชน์ และความสำคัญของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกระดับการเดินทางให้รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง และเป็นประตูสำคัญที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากภาคใต้ตอนบนสู่กรุงเทพฯ ตลอดจนทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ โดยที่ปรึกษาเขาเสนอ 4 ทางเลือก ทางเลือกหลักที่จะใช้ คือ รถไฟสายใต้เส้นใน และเส้นทางนครปฐมผ่านราชบุรีมาเพชรบุรี ส่วนอีก 3 ทางเลือก คือ ทางผ่านมหาชัย สมุทรสงคราม แต่จะพยายามดูเส้นทางซึ่งสร้างได้เร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อย เพราะบางทางเลือกจะต้องทำแนวเส้นทางใหม่ ซึ่งทำให้ทางสั้นลง แต่เกรงว่าต้องเวนคืน ทำให้เสียเวลา และเมื่อได้แนวเส้นทางแล้ว จะดูว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจริงจะมากแค่ไหน โดยตั้งเป้าไว้ว่าปลายปี 2561 น่าจะได้ใช้เส้นทางสายนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนข.จัดสัมมนาไปแล้วที่ จ.นครปฐม จ.เพชรบุรี และครั้งนี้ที่หัวหิน ต่อไปจะลงไปพื้นที่ชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ด้านนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดมีเส้นทางยาวประมาณ 220 กิโลเมตร จึงเห็นด้วยกับการมีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน เพราะจะลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นลง และสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อยากให้ทาง สนข.ไปศึกษาออกแบบสถานที่ก่อสร้างสถานีหัวหิน ให้มีเอกลักษณ์ของเมืองหัวหิน โดยเฉพาะสถานีหากหาพื้นที่ด้านนอกเมืองได้ ไม่ไกลจากตัวเมืองหัวหินก็จะดี เนื่องจากปัจจุบัน ในเมืองหัวหินมีความแออัดมาก

ขณะเดียวกัน นายธนกิจ แทนคุณ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อ่าวน้อย แสดงความคิดเห็นว่า ควรจะขยายเส้นทางจากหัวหินมายังตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพราะระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตรเท่านั้น ราคาที่ดินจุดสร้างสถานีก็ถูกกว่าหัวหิน ส่วนสถานีซ่อมแซมจาก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ก็น่าจะมาอยู่แถบ อ.สามร้อยยอด และ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงฝากไปให้พิจารณาด้วย เนื่องจากในอนาคตจะมีการเปิดด่านสิงขรเชื่อมพม่า และจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

นายเรวัตร มีกรุณา นักธุรกิจชาวหัวหิน และชาวบ้านในพื้นที่ก็เห็นด้วยกับโครงการ แต่ที่สำคัญต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และชุมชน หาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการดำเนินโครงการ รวมถึงควรหาสถานีจอดนอกพื้นที่เทศบาลเมืองหัวหิน แต่ไม่ควรไกลมากนัก และใช้ระบบขนส่งมวลชนนำผู้โดยสารเข้ามายังเขตเมืองหัวหิน โดยสถานีอาจจะเป็นทั้งที่ ต.วังก์พง อ.ปราณบุรี หรือทิศตะวันตกของ อ.หัวหิน

ด้านผู้แทน สนข. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ในวันนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แต่สาเหตุที่เลือกจุดสร้างสถานีในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เนื่องจากมีที่ทางหลวง แนวเขตรถไฟ และปัจจุบัน ราคาที่ดินในหัวหินสูงถึงไร่ละ 24 ล้านบาท ส่วนการขยายต่อไปตัวจังหวัดจะทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จะนำไปใช้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น