บุรีรัมย์ - อ่างเก็บน้ำสำคัญ 2 แห่ง แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองบุรีรัมย์แห้งวิกฤตเหลือไม่ถึง 50% ชลประทานจี้การประปาจัดงบฯ สูบน้ำเติมอ่าง เผยยังพบเกษตรกรหลายพื้นที่ฝ่าฝืนทำนาปรังแม้ประกาศห้าม ผวาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
วันนี้ (6 ก.พ.) นายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง จำนวน 19 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำที่น่าห่วงอยู่จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปาบริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช รวมกว่า 23,000 ครัวเรือน เนื่องจากมีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่เพียง 11.7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 45 ของขนาดความจุ 26 ล้าน ลบ.ม.
และอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย แหล่งน้ำดิบผลิตประปาบริการชาวบ้านในเขต อ.กระสัง กว่า 5,000 ครัวเรือน มีปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียง 2.5 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 ของขนาดความจุ 13.5 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งทั้งสองอ่างต้องปล่อยน้ำเพื่อการผลิตประปา รวมกว่า 30,000 ลบ.ม./วัน
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันพบว่า ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 19 แห่ง มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 70 จากกรณีดังกล่าวทางโครงการชลประทานจึงได้ประสานไปยังทางการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้า สำหรับสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เพิ่มอีก 1 ล้าน ลบ.ม. จากที่ก่อนหน้านี้ได้สูบดึงน้ำจากลำน้ำมาศมาเติมในอ่างแล้วกว่า 5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอผลิตประปาตลอดฤดูแล้งนี้
นายยงศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพื้นที่การเกษตร ยังพบเกษตรกรในเขตชลประทานหลายพื้นที่ ฝ่าฝืนปลูกข้าวนาปรัง และบางรายลักลอบสูบน้ำจากอ่างมาใส่นาข้าวของตัวเอง ถึงแม้มีการประกาศให้งดปลูกแล้วก็ตาม ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวแล้วเพื่อป้องกันปัญหาน้ำดิบไม่เพียงพอผลิตประปาในฤดูแล้งนี้
ส่วนพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ได้ประสานไปยังทางสำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ให้ช่วยเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรัง หรือพืชที่ใช้น้ำมากในช่วงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในปีนี้