xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางศรีสะเกษจี้ รง.รัฐเปิดเดินเครื่อง หลังสร้างเสร็จมานานส่อทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มเกษตรกรสวนยางพารา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  สุดทนรวมตัวขู่ปิดถนนสาย 24 เรียกร้องให้โรงงานแปรรูปยางพาราของรัฐบาลเปิดเดินเครื่องผลิต หลังผลาญงบฯสร้างเสร็จมานาน วันนี้ (31 ม.ค.)
ศรีสะเกษ - กลุ่มเกษตรกรสวนยางพารา อ.กันทรลักษ์ ศรีสะเกษ สุดทนรวมตัวขู่ปิดถนนสาย 24 เรียกร้องให้โรงงานแปรรูปยางพาราของรัฐบาลเปิดเดินเครื่องผลิต หลังผลาญงบฯ สร้างเสร็จมานาน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ แฉส่อทุจริตจ้าง รง.เอกชนแปรรูปให้ 30 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่บริเวณแยกการช่าง ถนนทางหลวงหมายเลข 24 สายโชคชัย-เดชอุดม อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา อ.กันทรลักษ์ ประมาณ 50 คน นำโดย นายภาคภูเบศ พวงมาลี อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ 14 บ้านซำเบ็ง ต.กระแชง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้รวมตัวกันเตรียมปิดถนนสายโชคชัย-เดชอุดม เพื่อเรียกร้องให้โรงงานแปรรูปยางพารา ตั้งอยู่ที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นของรัฐบาลที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมานาน ได้เปิดเดินเครื่องผลิตเพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่

กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสนิท ขาวสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ที่เดินมารับฟังปัญหาและเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ทำการปิดถนน และยินดีรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 6 ข้อ คือ 1. ให้รัฐบาลเปิดโรงงานแปรรูปยางพาราโดยด่วนที่สุด เพื่อผลิตยางแท่งในปัจจุบันที่มียางก้นถ้วยอยู่ในโรงงานแล้วประมาณ 5,557 ตัน 2. ให้ตรวจสอบว่าพนักงานขององค์การสวนยาง จ.ศรีสะเกษ คนใดมีส่วนได้ส่วนเสียในโรงงานหรือไม่ 3. ให้พนักงานองค์การสวนยางชี้แจงกรณีที่กล่าวหาว่ายางพารา จ.ศรีสะเกษไม่มีคุณภาพ เพราะเป็นการดูถูกคนทำสวนยางชาวศรีสะเกษ

4. มีข้อมูลมาว่าองค์การสวนยาง จะโยกย้ายวัตถุดิบยางก้นถ้วยในโรงงานไปว่าจ้างให้โรงงานเอกชนแปรรูปแทนทั้งที่ตัวเองมีโรงงานอยู่แล้วแต่ไม่เปิดเดินเครื่องผลิต 5. ที่ระบุไม่สามารถเปิดโรงงานได้ เนื่องจากไม่ได้มาตรฐานทำไมไม่เข้าสู่ระบบการตรวจสอบหาผู้กระทำผิดทำการทุจริต

และ 6. ชาวสวนยางพาราต้องการให้รัฐบาลเปิดโรงงานก่อนการเปิดหน้ายาง ปี 2556 เพื่อเดินเครื่องจักรนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาแปรรูปส่งออกจำหน่ายนำเงินมาหมุนเวียนซื้อยางพาราจากเกษตรกร เพราะการสร้างโรงงานดังกล่าวบนพื้นที่กว่า 365 ไร่ ใช้งบประมาณรัฐไปเป็นจำนวนมาก จึงไม่อยากเห็นการทุจริตเกิดขึ้นเช่นโครงการอื่นๆ

ต่อมานายสนิท ขาวสะอาด รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ได้ประสานให้นายสร้างสรรค์ เพชรสุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน โรงงานองค์การสวนยางที่ 4 จ.ศรีสะเกษ เดินทางมารับฟังข้อเรียกร้อง และได้ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุม

นายสร้างสรรค์ เพชรสุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน โรงงานองค์การสวนยางที่ 4 จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ก.พ.จะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ซึ่งในเรื่องการเปิดโรงงานนั้นขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว รอเพียงการส่งมอบเท่านั้น โดยตามแผนงานแล้วในช่วงเดือน พ.ค.นี้ โรงงานจะเปิดรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ซึ่งเกษตรกรต้องมาลงทะเบียนแจ้งไว้ด้วยเพราะหลังจากรับซื้อยางพาราจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกรทันที

นายภาคภูเบศ พวงมาลี แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรจะเดินทางไปดูความพร้อมของโรงงานอีกครั้งหนึ่งในเดือน เม.ย.นี้ ว่ามีความพร้อมจะเปิดเดินเครื่องจักรผลิตได้จริงหรือไม่ หากมีการยื้อเวลาออกไปอีกทางกลุ่มเกษตรกรพร้อมที่จะเดินทางมาชุมนุมปิดถนนเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอที่เรียกร้องต่อไป รวมทั้งอยากให้เร่งตรวจสอบเรื่องการว่าจ้างโรงงานเอกชนให้แปรรูปยางพาราให้ มีมูลค่าถึง 30 ล้านบาท ซึ่งเหตุใดจึงต้องมีการจ้างทั้งที่โรงงานแห่งนี้ก็สามารถผลิตเองได้

จากนั้นทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปตรวจดูความพร้อมของโรงงานแปรรูปยางพารา ตั้งอยู่ในเขต อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ พบมีกองยางพาราถูกกองทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงไว้เพื่อรักษาคุณภาพ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเน้นย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีจะมีการนำยางที่อยู่ภายในโรงงานดังกล่าวไปว่าจ้างให้โรงงานเอกชนแปรรูปให้ พร้อมได้นัดรวมตัวกันอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น