ประจวบคีรีขันธ์ - ปัญหาลักลอบทำการประมงคราดหอยลายในพื้นหวงห้าม 3,000 เมตร ทั้งที่ชายฝั่งทะเลปากน้ำปราณ หัวหิน, สามร้อยยอด และกุยบุรี ในประจวบฯ ของเรือประมงคราดหอยลายจากมหาชัยกว่า 30-40 ลำ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทำให้เครื่องมือทำการประมงชายฝั่งของชาวประมงเรือเล็กเสียหายอย่างหนัก ขณะที่ชาวประมงเองแจ้ง ตร.น้ำ-หน่วยงานกรมประมง แต่ไม่มีใครออกไปจับกุม ทำให้ชาวประมงชายฝั่งต้องประท้วงถามหาความรับผิดชอบ ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สั่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกัน และแก้ปัญหาเรือคราดหอยลักลอบทำการประมงในพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมระดมทุกหน่วยงานร่วมวางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
วันนี้ (25 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ห้องประชุมโรงเรียนปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอยุธยา คล้ายสิงห์ นายอำเภอปราณบุรี นายปรีดา สุขใจ ป้องกันจังหวัด นายแสน ศรีงาม ผอ.ส่วนบริหารจัดการด้านการประมง (กรมประมง) นายจิตจรูญ ตันติวาลา ประมงจังหวัดประจวบฯ นายลิขิต บุญสิทธิ์ หน.กลุ่มด้านบริหารจัดการด้านการประมง พร้อมด้วยประมงอำเภอปราณบุรี พ.ต.ท.รัฐศักดิ์ อิ่มฤทธา สารวัตรตำรวจน้ำปากน้ำปราณ นายก อบต.ปากน้ำปราณ และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมือง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเรือคราดหอยลายจากพื้นที่มหาชัย ซึ่งเข้ามาทำการประมงคราดหอยลายในพื้นที่ 3,000 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามทำการประมงคราดหอยลายที่กฎหมายกำหนด ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อย่างหนัก
โดยในที่ประชุม ลุงเจือ แคใหญ่ วัย 70 ปี ตัวแทนชาวประมงชายฝั่งปากน้ำปราณ ชาวประมงอ่าวน้อย ชาวประมงหัวหิน ได้กล่าวถึงความเดือดร้อนจากเรือคราดหอยลายต่างถิ่น ซึ่งได้เข้ามาทำการประมงในเขต 3,000 เมตร ซึ่งเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และทำลายสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของท้องทะเล และยังเป็นทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำลายแหล่งปะการัง และทำลายเครื่องมือทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้านได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ตำรวจน้ำ เรือตรวจการณ์ประมงทะเลที่รับผิดชอบพื้นที่ก็ไม่ได้เข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวประมง หรือป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ถึงแม้ชาวประมงจะแจ้งให้ทราบทุกครั้งตั้งแต่ต้นปีใหม่ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ว่ามีเรือคราดหอยเข้ามาลักลอบทำการปะมง จนทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องออกมารวมตัวกันประท้วงที่สถานีตำรวจน้ำ ปากน้ำปราณบุรี เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยตัวแทนชาวประมงระบุอีกว่า ไม่อยากใช้วิธีการปิดร่องน้ำเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 มาดำเนินการเนื่องจากจะส่งผลกระทบเดือดร้อนต่อชาวประมงด้วยกัน
ด้านนายมนตรี พงษ์พานิช ชาวประมงพื้นบ้านหัวหิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ปล่อยให้มีการทำการประมงในแนวเขตพระราชฐานทั้งที่หัวหิน และบริเวณเขาเต่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย พวกเรือคราดหอยลายส่วนใหญ่ชอบเข้ามาลอบคราดหอยช่วงกลางคืน หากเรือตรวจการณ์ประมงทะเล กรมประมง และเรือตำรวจน้ำนำเรือตรวจออกไปเฝ้าตามแนวชายฝั่งจุดที่หอยลายชุมชุม ถามว่าเรือคราดหอยจะกล้าเข้ามาหรือไม่
ขณะเดียวกัน นายปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงชายฝั่งกุยบุรี กล่าวว่า เรือคราดหอยที่เข้ามาทำการประมงในเขตอนุรักษ์ ได้หอยลายลำละประมาณ 3 ตัน (30,000 ตัน) ขายได้เป็นเงินถึง 1 ล้านบาท/ลำ จากการที่เข้ามาลักลอบทำการประมงกว่า 30 ลำในแต่ละคืน ก็จะได้หอยลายกลับไปขึ้นฝั่งและขายที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร อย่างน้อยคืนละกว่า 100 ตัน เป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งหากเรือเหล่านั้นเข้ามาทำการประมงในพื้นที่นอกแนวเขต 3,000 เมตร ก็ไม่สามารถห้ามได้ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตอนนี้ปัญหาใหญ่ชาวประมงชายฝั่งไม่กล้านำเรือออกไปทำการประมง เพราะกลัวเรือคราดหอยลาย
ด้านนายจิตจรูญ ตันติวาลา ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ทีเรือต่างถิ่นเข้ามาลักลอบทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดประจวบฯ นั้น เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยลายมีการเจริญเติบโตเต็มที่ และมีปริมาณมาก เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งในแนว 3,000 เมตรมีความอุดมสมบูรณ์ หลังจากปี 2552 ได้ถูกลักลอบจับขึ้นไปเป็นจำนวนมาก
“หลายครั้งที่ผ่านมา ผมไม่ได้นิ่งนอนใจได้รายงานให้อธิบดีกรมประมงทราบเป็นระยะ ส่วนเรื่องความเสียหายของเครื่องมือประมงนั้นจะได้หาทางช่วยเหลือเยียวยาต่อไป” นายจิตจรูญกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทั้งตำรวจน้ำปากน้ำปราณ และตัวแทนจากอธิบดีกรมประมงต่างยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้อ้างว่า ปัจจุบันขาดแคลนเรื่องงบประมาณน้ำมันของเรือตรวจ และกำลังพลที่มีไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ปัญหาสำคัญกลุ่มเรือคราดหอยลายจะมีสายคอยติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งเจ้าหน้าที่ประมง และตำรวจน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะเวลาที่เจ้าหน้าที่จะออกปฏิบัติงานก็จะถูกสายโทร.แจ้งเรือคราดหอยลายทันที ประกอบกับเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่พักผ่อนแล้ว และได้รับปากกับชาวประมงว่า จะกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของกรมประมง ทางอธิบดีกรมประมงได้สั่งการให้เรือตรวจการณ์ประมงทะเลจากส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการลักลอบทำการประมงที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นอีก
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังประชุมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นที่บ้านแล้ว เบื้องต้น สั่งจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ปัญหาเรือคราดหอยที่ตำบลปากน้ำปราณเป็นการเร่งด่วน พร้อมระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาป้องกันปราบปรามเรือคราดหอยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจน้ำ กรมประมง และตัวแทนชาวประมง ส่วนเรื่องความเสียหายสำหรับอุปกรณ์ทำการประมงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือตามความเป็นจริง และให้ตำรวจน้ำสืบสวนหาตัวเรือที่ทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ส่วนสำคัญผมจะทำหนังสือรายงานสถานการณ์เรือคราดหอยที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอธิบดีกรมประมง ผู้บังคับการตำรวจน้ำให้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งกรณีการที่มีใบปลิวออกมาโจมตีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนรู้เห็นในการเข้ามาคราดหอยลายในเขต 3,000 เมตร รวมทั้งให้จัดส่งเรือตรวจ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณเข้ามาสนับสนุนในการออกตรวจตราของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะให้ชาวประมงได้ร่วมทำงานออกตรวจตราร่วมกัน พร้อมกันนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่ และตำรวจน้ำ ต้องรายงานให้ทราบหากมีปัญหาการลักลอบทำการประมง เพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม”