xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายนักวิชาการ-นศ.ภูมิภาคค้านรัฐบาลไทยส่งโรฮิงญากลับพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
มหาสารคาม - นักวิชาการ-นักศึกษามหาวิทยาลัยสารคาม ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ และ ม.บุรีรัมย์ ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านรัฐบาลไทยส่ง “ชาวโรฮิงญา” กลับพม่า หวั่นถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลสมาชิก AEC กดดันให้รัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่นยุติการปราบปราม เข่นฆ่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา หากเพิกเฉยถือว่า AEC รวมกลุ่มกันเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ห้องประชุมแม่น้ำ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบุรีรัมย์ นักกิจกรรมทางสังคม นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กว่า 2,000 คน เปิดเสวนาและออกแถลงการณ์คัดค้านการส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศพม่า หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หยุดค้ามนุษย์

โดยเนื้อความในแถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากห่วงใยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาทั้งที่เผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า และที่กำลังตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งที่ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้วและที่คาดว่ายังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกมาก ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

คือ 1. ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและสากล เข้ามามีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร่งด่วน

โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยุตินโยบายและปฏิบัติหน้าที่ผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า เพราะการผลักดันพวกเขากลับไปยังพม่าจะเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหากพวกเขาหลบหนีออกมาได้อีกครั้งก็อาจจะทำให้พวกเขาเสียชีวิตระหว่างหลบหนีหรือไม่ต้องตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีก

สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา รัฐไทยต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญาเป็นกรณีเฉพาะ

2. ขอเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาคมอาเซียน รัฐบาลสมาชิกของประชาคมอาเซียน (AEC) และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เข้ามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า โดยกดดันให้รัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่นยุติการปราบปราม เข่นฆ่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ต่อชาวโรฮิงญาโดยทันที

พร้อมกันนั้นต้องให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งที่ยังอยู่ในประเทศพม่าและที่หลบหนีออกมา รวมทั้งที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเร่งด่วน หากประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิกเฉยต่อกรณีโรฮิงญาก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยเร่งด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น