ลำปาง - กรรมการคุ้มครองสมุนไพรลำปางตั้งโต๊ะระดมเครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพร-หมอพื้นบ้าน-อปท.-ผู้นำท้องถิ่น ร่วมวางแนวทางพัฒนาอนุรักษ์สมุนไพรไทย พร้อมลงมติตั้ง “เครือข่ายอนุรักษ์สมุนไพร” ก่อนสูญพันธุ์
วันนี้ (17 ม.ค.) คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสมุนไพร จังหวัดลำปาง ซึ่งมีตัวแทนหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล, ประชาสัมพันธ์จังหวัด, เกษตรจังหวัด และสถาบันการศึกษา ได้ลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้าน ผู้นำท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมอพื้นบ้าน ที่ลานวัดบ้านปางปง-ปางทราย ม.9 ต.เวียงตาล อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อระดมความคิดเห็น วางแนวทางในการอนุรักษ์สมุนไพรไทยที่มีอยู่ในพื้นที่ไม่ให้สูญพันธุ์
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสำรวจพบว่าในจังหวัดลำปางมีสมุนไพรทั้งหมดกว่า 80 ชนิด และมีอยู่ 4 ชนิดที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก คือ ข้าวเย็นเหนือ หัวร้อยรู กำแพงเจ็ดชั้น และม้ากระทืบโรง ซึ่งสมุนไพรส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย
เบื้องต้นชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีมีความเห็นร่วมกันว่าจะรวมกลุ่มตั้งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สมุนไพร และสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรในหมู่บ้าน โดยใช้พื้นที่บ้านของตนเองเป็นจุดเริ่มต้น ส่วนสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยราชมงคงล้านนา จะเป็นผู้เพาะต้นกล้าสมุนไพรที่ตลาดต้องการ และมีระยะการปลูกสั้นมาให้ชาวบ้าน ส่วนสมุนไพรที่หายากและมีในธรรมชาติ จะได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลเพาะกล้าเพื่อขยายพันธุ์ทั้งในป่า และในชุมชนต่อไป
นอกจากนั้นจะยังร่วมสร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องสมุนไพรเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสมุนไพรแก่ชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนทั่วไป รวมถึงรณรงค์ให้คนในชุมชนคืนสมุนไพรสู่ป่า และให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกสมุนไพรด้วย
นายสวัสดิ์ คุณชมภู ผู้ทรงคุณวุฒิด้านปลูกและแปรรูปสมุนไพร และหมอพื้นบ้าน เปิดเผยว่า ตนอยากให้ชาวบ้านหันมาปลูกสมุนไพรไว้กับบ้านเพื่อนำมาใช้เอง หรือหากมีเหลือก็นำมาจำหน่ายให้ตน ซึ่งประกอบอาชีพทำยาสมุนไพรพื้นบ้านอยู่แล้ว โดยตนจะใช้รักษาผู้ป่วย และจำหน่ายในราคาถูก ไม่นำจำหน่ายหรือส่งขายภายนอก ผู้ป่วยจะต้องมาซื้อยาเอง และตนก็จะจำหน่ายให้เพื่อนำไปรับประทานให้เพียงพอในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น หากคนอื่นมาซื้อก็จะไม่จำหน่ายให้เพราะอาจจะนำไปขายต่อได้
“ทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่หันมารักษาทางหมอพื้นบ้านมากขึ้น เห็นได้จากในวันนี้ชาวบ้านได้เดินทางมาจากอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่นับ 10 คนเพื่อมารักษาอาการเจ็บปวดตามข้อ กระดูก เอ็น หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้สมุนไพรที่นำมาปรุงเป็นยาต้มรับประทานไม่ค่อยเพียงพอ ผมต้องสั่งซื้อจากนอกพื้นที่เข้ามาด้วย
ดังนั้นจึงอยากจะให้คนในชุมชนมาเรียนรู้สมุนไพร ปลูก และจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ หรือปลูกไว้เพื่อเป็นยาใช้เองที่บ้านก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก”