xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมดันสมุนไพรแชมเปียน “กวาวเครือขาว-บัวบก-กระชายดำ-ไพล-ลูกประคบ” สู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กวาวเครือขาว (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
ชู “กวาวเครือขาว-บัวบก-กระชายดำ-ไพล-ลูกประคบ” สมุนไพรไทยระดับแชมเปียน เหตุเป็นที่รู้จักทั่วโลก ปลูกง่าย มีงานวิจัยรองรับสรรพคุณทำผลิตภัณฑ์ เตรียมเสนอ รมว.สธ.ดันสู่ตลาดโลก

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานสมาพันธ์สุขภาพและความงามแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือร่วมกับนักวิชาการ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องคัดเลือกสมุนไพรไทยที่จัดว่าเป็นแชมเปียน โดยพิจารณาจากการปลูกได้ง่าย เป็นที่รู้จักทั่วโลก และมีอนาคต (มีการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ที่นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย) ซึ่งขณะนี้ได้เลือกขึ้นมา 5 ชนิด ได้แก่ 1.กวาวเครือขาว เนื่องจากเป็นที่รู้จักดีในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือจำนวนมาก เพราะกวาวเครือขาวมีสารไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogens) ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง โดยการเสริมฮอรโมนในรูปแบบนี้ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความปลอดภัยกว่าฮอร์โมนสังเคราะห์ 2.บัวบก เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่ใช้ในทั่วโลก โดยเฉพาะในเครื่องสำอางจะมีสารสกัดจากบัวบกเป็นส่วนผสม เพราะบัวบกทำหน้าที่ป้องกันการแพ้เครื่องสำอาง ช่วยบำรุงผิว บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย และเมื่อยล้า หากปลูกอย่างมีคุณภาพจะเป็นสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดโลกสูง

นายนาคาญ์ กล่าวอีกว่า 3.กระชายดำ เนื่องจากช่วยบำรุงร่างกายเพศชาย และจากการศึกษาของญี่ปุ่น พบว่า มีฤทธิ์ในการลดน้ำหนักและบำรุงผิวในสุภาพสตรี ที่สำคัญ ไม่ได้เป็นสมุนไพรที่มีในหลายประเทศ แต่ประเทศไทยกลับมีความโด่งดัง จึงคิดว่า สมุนไพรชนิดนี้มีอนาคตไกล 4.ไพล เนื่องจากเมื่อนำมาทำให้อยู่ในรูปแบบของครีมจะมีสรรพคุณคล้ายกับบัวหิมะของจีน สามารถแก้อาการอักเสบ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และ การปวดข้อเข่า กระดูกต่างๆ และ 5.ลูกประคบ เนื่องจากเป็นการรวมสมุนไพรหลากหลายทำให้มีกลิ่นหอม และสปาไทยทุกแห่ง จะมีกลิ่นนี้ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย โดยปกติจะใช้ด้วยการนึ่งและนวดประคบ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ใช้ง่ายขึ้นในรูปแบบของครีม

ในเรื่องการผลักดันจะนำสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อให้มีการส่งเสริมและผลักดันให้เป็นพืชที่สำคัญของไทย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศ และหากทำให้การตลาดสมุนไพรดีขึ้น มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยจะเพิ่มมากขึ้น โดยในอนาคตเชื่อว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯจะประสานผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้มีโอกาสพบปะกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรภายใต้การควบคุมคุณภาพ เช่น ปลูกในภาวะเช่นไร เก็บเกี่ยวช่วงเวลาไหนและจำหน่ายราคาเท่าไร เพราะหากไม่มีการควบคุมอาจมีการใช้สารเคมี ทำให้สมุนไพรเป็นอันตรายต่อร่างกาย” นายนาคาญ์ กล่าว
บัวบก (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
กระชายดำ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
ไพล (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
ลูกประคบ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
กำลังโหลดความคิดเห็น