xs
xsm
sm
md
lg

สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเปิดส่วนแสดงใหม่ “Australasia”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดส่วนแสดงใหม่ “Australasia" ดินแดนมหัศจรรย์ที่น่าค้นหา พร้อมรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษาได้เข้าศึกษาเรียนรู้

วันนี้ (15 ม.ค.) นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เผยว่า ขณะนี้สวนสัตว์ได้เปิดส่วนแสดงใหม่ ภายใต้แนวคิด Australasia หรือออสเตรลาเซีย ซึ่งไม่ได้หมายความแค่ออสเตรเลียประเทศเดียว แต่เป็นประเทศ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น นิวซีแลนด์ นิวกินี จึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่น่าค้นหาเป็นอย่างยิ่ง ทางสวนสัตว์จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนมาเรียนรู้เรื่องราวอีกดินแดนหนึ่งของโลก ซึ่งจะมีสัตว์จากดินแดนแห่งนี้ให้ชมหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ จิงโจ้แดง (Red Kangaroo) สัตว์ตระกูลจิงโจ้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด วอลลาบี (Wallaby) กลุ่มสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง ตระกูลเดียวกับจิงโจ้ นกอีมู (Emu) นกขนาดใหญ่บินไม่ได้ ขนาดรองมาจากนกกระจอกเทศ และนกคาสโซวารี (Cassowary) นกบินไม่ได้ต้นแบบจากยุคไดโนเสาร์

“นักท่องเที่ยวสามารถชมได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งถ่ายภาพมุมต่างๆ ภายในดินแดนออสเตรลาเซีย ที่สวนสัตว์ได้จัดไว้อย่างสวยงาม จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และประชาชนพาบุตรหลานมาเรียนรู้ประสบการณ์ดินแดนใหม่ในโลกกว้างได้”

ทั้งนี้ จิงโจ้แดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Macropus rufus ลักษณะทั่วไปมีขนาดใหญ่ หางยาวใหญ่แข็งแรง ขนสั้นหนา เรียกจิงโจ้แดงเนื่องจากในฤดูผสมพันธุ์ส่วนหลัง และอกเป็นสีแดง แต่เวลาปกติจะมีสีเทา หรือน้ำตาล ลำตัวยาวประมาณ 165 เซนติเมตร หนัก 82 กิโลกรัม ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ อาศัยอยู่ตามลำพัง หรือเป็นฝูงขนาดเล็ก ออกหากินเวลากลางคืน วิ่งได้เร็วถึง 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ละก้าวกระโดดห่างกัน 8 เมตร ตั้งท้องนาน 33 วัน ลูกเกิดใหม่ออกจากช่องคลอดในลักษณะที่ยังไม่โตเต็มที่ เกาะอยู่ที่หัวนมแม่ในถุงหน้าท้องเป็นระยะเวลา 70 วัน เมื่ออายุครบ 8 เดือน จึงจะออกจากถุงหน้าท้อง และจะกินนมแม่จนอายุ 1 ปี ถิ่นอาศัยเป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีลักษณะที่เป็นป่าละเมาะ ป่าไม้พุ่มเตี้ย ทุ่งหญ้าในตอนกลางของทวีปออสเตรเลีย กินหญ้า ใบไม้ และดอกไม้ของพืชในเลี้ยงคู่เป็นอาหาร

วอลลาบี มีชื่อวิทยาศาสตร์ Macropus rufogriseus ลักษณะทั่วไปมีขนาดจากหัวถึงหลังยาว 65-92 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 79 เซนติเมตร หนัก 11-26 กิโลกรัม ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ประมาณ 30 ตัว หากินเวลากลางคืน ผสมพันธุ์ได้ตลอดปี พบมากในป่าไม้พุ่มเตี้ยชายฝั่ง บนเกาะแทสมาเนีย ทางตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย กินหญ้า ใบไม้อ่อน และพืชบางชนิดเป็นอาหาร

นกอีมู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Dromaius novaehollandiae สูงถึง 5-6 ฟุต หนัก 150 ปอนด์ ขนคล้ายกับเส้นผม ไม่เหมือนนกบินทั่วไป แต่นกอีมูไม่มีสันกระดูกบนหัว และขนบนลำตัวเป็นสีน้ำตาลทั่วทั้งตัว ทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะมีลักษณะเหมือนกัน แต่ตัวผู้มีขนาดโตกว่า พบในออสเตรเลีย ยกเว้นริมชายฝั่ง อาหารได้แก่ ผลไม้ ลูกไม้ แมลง นกอีมูวิ่งได้เร็วถึง 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ว่ายน้ำเก่ง หากินรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ในฤดูผสมพันธุ์จะไปกันเป็นคู่ เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี วางไข่ครั้งละ 7-10 ฟอง ไข่มีสีเขียวเข้ม

นกคาสโซวารี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Casuarius casuarius สูงประมาณ 100 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 85 กิโลกรัม ขาสั้น และแข็งแรง ขนทั่วทั้งตัวมีลักษณะคล้ายเส้นผม ไม่เหมือนขนนกทั่วไป ซึ่งช่วยป้องกันดงหนามของไม้พุ่ม ไม่มีหาง ปีกก็เล็กมาก บนหัวจะมีสันกระดูกดูเด่นสะดุดตา หัว และคอไม่มีขน หนังเป็นสีแดง ฟ้า ม่วง และเหลือง เท้ามี 3 นิ้ว ซึ่งต่างจากนกกระจอกเทศที่มี 2 นิ้ว ทั้ง 2 เพศมีลักษณะเหมือนกัน คือ ขนเป็นสีดำทั่วทั้งตัว แต่ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย พบอยู่ในทวีปออสเตรเลีย และเกาะที่อยู่รอบออสเตรเลียเท่านั้น อาหารส่วนใหญ่ คือ ลูกไม้ ผลไม้ แต่อาจกินพืช แมลง และสัตว์เล็ก วิ่งได้เร็ว 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่ายน้ำได้


กำลังโหลดความคิดเห็น