ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “รอง ผบช.ภ. 3” แฉมีนายทุนใหญ่กรุงเทพฯ 3-4 กลุ่มอยู่เบื้องหลังลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงอีสาน สั่งตำรวจ 8 จว.อีสานใต้รุกปราบปรามให้หนัก ชี้มีการตัดตอนสั่งการเป็นช่วงๆ ทำให้สาวถึงต้นตอขบวนการได้ยาก และปรับวิธีการขนใหม่หันใช้กองทัพมดแทน แม้ไม้พะยูงขนาดเล็กก็ไม่เว้น
วันนี้ (14 ม.ค.) พล.ต.ท.ประสิทธิ์ ทำดี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (รอง ผบช.ภ.3) เปิดเผยถึงสถานการณ์ลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง ภายหลังแถลงข่าวจับกุมการลักลอบขนไม้พะยูงรายใหญ่ได้ของกลางจำนวน 230 ท่อนว่า ในปีนี้กลุ่มผู้ลักลอบมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในการลักลอบขนไม้พะยูงไปชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน และเข้ากรุงเทพฯ
ขณะเดียวกัน ตำรวจในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานล่างได้ปราบปรามกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงอย่างหนัก ตามนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เพื่อไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษได้จับกุมกลุ่มผู้ลักลอบตัดและตรวจยึดไม้พะยูงได้จำนวนมาก เช่นเดียวกับ จ.อุบลราชธานีที่จับกุมได้อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 ม.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำรวจภูธรภาค 3 (ปทส.ภ.3) ได้สกัดจับกลุ่มผู้ลักลอบขนไม้พะยูงรายใหญ่ได้ที่บริเวณด้านหน้าศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา ถนนมิตรภาพ ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา หลังติดตามมาจากพื้นที่ ต.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โดยมีเป้าหมายลำเลียงไปเก็บซ่อนไว้ที่โกดังย่านบางนา จ.สมุทรปราการ ก่อนนำออกต่างประเทศ ซึ่งสามารถตรวจยึดไม้พะยูงที่บรรทุกมาในรถสิบล้อได้จำนวน 230 ท่อน มูลค่าส่งออกต่างประเทศกว่า 15 ล้านบาท แต่คนขับรถไหวตัววิ่งหลบหนีไปได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ติดตามรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ ทะเบียน ณษ 991 กทม. ต้องสงสัยทำหน้าที่เป็นรถนำทางรถสิบล้อบรรทุกไม้พะยูงดังกล่าว ซึ่งคนขับคือ นายวิรัตน์ ไทยประดิษฐ์ อายุ 50 ปี ชาว จ.ราชบุรี เจ้าหน้าที่จึงนำตัวมาสอบปากคำที่ สภ.เมืองนครราชสีมา แต่นายวิรัตน์ให้การปฏิเสธ เจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวไปก่อน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนขยายผลไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการทั้งหมด เนื่องจากทราบรายชื่อหมดแล้ว
พล.ต.ท.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ลักลอบขนไม้พะยูงได้เปลี่ยนรูปแบบการขนจากเดิมที่มักจะขนเป็นล็อตใหญ่มาใช้การขนในลักษณะกองทัพมดแทน โดยนำมาพักกระจายไว้เป็นจุดเล็กๆ จากนั้นจะมีรถตระเวนไปขนจากจุดต่างๆ เพื่อรวมกันก่อนนำไปส่งที่กรุงเทพฯ ขณะนี้แม้แต่ไม้พะยูงขนาดเล็กก็เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากไม้ขนาดใหญ่ในป่ามีปริมาณน้อยลง โดยราคาขายสูงกิโลกรัมละกว่า 200 บาท และหากนำส่งไปยังประเทศจีนหรือไต้หวันได้ราคาจะเพิ่มอีก 10 เท่าตัว จึงเป็นแรงจูงใจให้มีผู้เข้าสู่ขบวนการนี้มาก
ทั้งนี้ จากการติดตามหาข่าวเชิงลึกในพื้นที่ทราบว่า มีกลุ่มนายทุนใหญ่ประมาณ 3-4 กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการลักลอบตัดไม้พะยูงและลำเลียงออกไปขายต่างประเทศ โดยเป็นกลุ่มนายทุนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการสั่งการเป็นช่วงๆ โดยใช้โทรศัพท์สั่งการ เช่น จะโทร. สั่งการให้ขนไปส่งไว้ยังจุดหมายที่ 1 จากนั้นจะมีคนมาเปลี่ยนขับรถต่อไปอีกจุดหนึ่ง และเปลี่ยนอีกคนมาสั่งการเป็นลักษณะเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทาง ซึ่งเป็นการตัดตอนแต่ละช่วงๆ ทำให้ยากต่อการสืบสวนสาวถึงต้นตอของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างมาก
“อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดอีสานใต้เฝ้าติดตามกลุ่มคนร้ายกลุ่มเหล่านี้ และแกะรอยไปให้ถึงต้นตอเพื่อจะได้สาวไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริงและทลายโกดังขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นที่พักไม้พะยูงในประเทศไทยให้ได้” พล.ต.ท.ประสิทธิ์กล่าว