xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ ดอดลงแพร่วันเด็ก-อธิบดีย้ำ “น้ำยม” ต้องมีเขื่อน สะพัดเล็งชง ครม.สัญจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - อธิบดีกรมชลประทาน ดอดลงพื้นที่เมืองแพร่วันเด็ก ประกาศย้ำ “น้ำยม” ต้องมีเขื่อน แต่อย่าเรียก “แก่งเสือเต้น” ขณะที่ผู้ว่าฯ ประสานเสียง บอกวันนี้เมืองแพร่มีปัญหาน้ำไม่พอใช้ ข่าวสะพัดเตรียมชงเรื่องสร้างเขื่อนใหญ่เข้า ครม.สัญจรที่อุตรดิตถ์กลางเดือนนี้

วันนี้ (12 ม.ค.) นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้นำคณะนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ลงดูการกั้นน้ำยมแก้ปัญหาภัยแล้งที่บริเวณดอยผี ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ โดยมีประชาชนใน เขตอ.สอง อ.หนองม่วงไข่ ที่อยู่ในเขตแห้งแล้ง จำนวนกว่า 500 คน ร่วมกันสร้างฝายกระสอบทรายยกระดับน้ำในแม่น้ำยมให้สูงขึ้น เพื่อสูบน้ำไปใช้ในการเกษตร

ขณะเดียวกันนายสมบูรณ์ ใจเศษ ประธานสภาเกษตรกร จ.แพร่ ได้ใช้โอกาสนี้ยื่นหนังสือต่อ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อแสดงความต้องการของเกษตรกรในจังหวัดแพร่ ผลักดันให้รัฐบาลเร่งสร้างเขื่อนกั้นน้ำยมเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคการเกษตร แก้ปัญหาน้ำท่วมโดยเร็วด้วย

นายเลิศวิโรจน์ ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศว่า มีปัญหาคล้ายๆ กันทุกภาคคือ จะมีน้ำหลากในฤดูฝน และน้ำแล้งในฤดูร้อน ปัญหาเหล่านี้กรมชลประทานได้พยายามที่จะแก้ไข แต่เป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะในแม่น้ำยม ปัจจุบัน จะเห็นว่าประชาชนได้พยายามช่วยเหลือตัวเองในการกั้นน้ำไว้ใช้ ซึ่งในจุดที่มาดูยังมีน้ำไหลอยู่ค่อนข้างมาก แต่พื้นที่ใต้จังหวัดแพร่ไปน้ำยมแห้งขอด บางจุดถึงขนาดไม่มีน้ำเลย โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย พิจิตร และนครสวรรค์

“แม่น้ำยมจำเป็นที่จะต้องทำเขื่อน จะเรียกชื่ออะไรก็ได้ อย่าเรียกว่า “แก่งเสือเต้น” ก็แล้วกัน จะเห็นว่าที่ลุ่มน้ำอื่นมีเขื่อนจนหมดแล้ว สามารถจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี การชลประทานสร้างรายได้ให้แก่คนในลุ่มน้ำมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ที่แม่น้ำยม ชาวบ้าน 2 ฝั่งยังต้องเผชิญกับชะตากรรมมาตลอดทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ส่วนโครงการแก้ปัญหาดังกล่าวใน TOR ของกรมชลประทาน มีการศึกษาไว้แล้วว่าจะต้องมีเขื่อนขนาดใหญ่ เชื่อว่าคงมีหลายบริษัทเสนอเข้ามา โดยในแผนการใช้เงินแก้ปัญหาภัยพิบัติก็ได้มีเสนอทำเขื่อนใหญ่อยู่ด้วย”

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดมีความกังวลในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นเป้าหมาย และโครงการใหญ่ที่จังหวัดแพร่ได้มีความพยายามอยู่ เพื่อให้ได้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ในขั้นตอนแรก คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเตรียมความพร้อมไปก่อน

ผู้ว่าฯ แพร่ บอกว่า ลุ่มน้ำยมมีลำน้ำสาขาใหญ่ๆ รวม 16 สาขา ถ้าจะพัฒนาต้องดูทั้งหมด ทำแผนในลักษณะเอาผู้ใช้น้ำมาคุยกันเสนอความเห็น ทางมูลนิธิอุทกภัทรของในหลวง จะเข้ามาช่วยในเรื่องวิชาการเรื่องความถูกต้อง ซึ่งประชุมไปแล้ว 6 ครั้ง ยังเหลืออีก 2 ครั้ง ที่นครสวรรค์ กับพิษณุโลก ถ้าจุดนี้จบจะได้แผนพัฒนาลุ่มน้ำยมทั้งระบบแล้วเสนอไปยังรัฐบาล ในส่วนของผู้ว่าฯ แพร่จะหยิบส่วนนี้มาดูก่อน ถ้าเรามีแผนแม่บททั้งลุ่มน้ำจะทำงานง่ายขึ้น และเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม พัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง

“คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือคนแพร่ ปัจจุบัน แพร่มีปัญหาน้ำการเกษตรไม่เพียงพอ เรามีอ่างเก็บน้ำเกือบ 100 ตัว แต่เก็บน้ำได้น้อย น้ำที่ใช้ในจังหวัดแพร่จะต้องมีมากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจึงจะเพียงพอ”

ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะมีการเสนอเข้า ครม.สัญจรที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ 21 มกราคม 56 นี้นั้น ผู้ว่าฯ แพร่บอกว่า คงยังไม่นำเข้าเนื่องจากยังหาข้อยุติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกฝ่ายจะออกมาปฏิเสธว่า ยังไม่มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำยม เข้า ครม.สัญจรที่อุตรดิตถ์กลางเดือนนี้อย่างชัดเจน แต่ชาวบ้านใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชุมชนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนพบว่า มีการใช้เฮลิคอปเตอร์บินดูสภาพป่า และลุ่มน้ำยมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 56 ที่ผ่านมา และเชื่อว่ามีอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้นำในการสำรวจดังกล่าวด้วย และการเดินทางมาจังหวัดแพร่ของอธิบดีกรมชลประทานครั้งนี้ ก็เพื่อเก็บข้อมูลนำเข้าในการประชุม ครม.สัญจรอย่างแน่นอน

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านเริ่มเข้าใจแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเมืองที่ต้องการสร้างโครงการขนาดใหญ่มากกว่าการฟื้นฟู 16 ลุ่มน้ำอย่างที่กล่าวมา แม้ชาวบ้าน ต.วังหลวง อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ จะออกมาเรียกร้องให้มีการขุดหน้าฝายแม่ยม เพื่อเป็นแหล่งกับเก็บน้ำได้มากขึ้น แต่ทางชลประทานไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านแต่อย่างใด



กำลังโหลดความคิดเห็น