สุรินทร์ - ประธานหอการค้าสุรินทร์เผย รง.ผลิตชุดชั้นในสตรี-ชุดกีฬาเมืองช้างเจ๊งสังเวยค่าแรง 300 บาทแล้ว 2 แห่ง ลอยแพกว่า 700 คน ขณะ รง.ผลิตรองเท้า-เสื้อผ้าจ่อปิดอีก 2 แห่ง คนงานกว่า 500 คน เผย รง.การ์เมนต์ชาวอินเดียในอีสานปิดรวด 4 แห่ง ตกงานอื้อ 2,000 คน จี้รัฐบาลเร่งอุ้ม SMEs ทั่วประเทศวิกฤตแบกค่าแรงไม่ไหว ขณะแรงงานเขมรผิด กม.ทะลักเข้าไทยหนัก
วันนี้ (9 ม.ค.) นายเกรียงศักดิ์ ปาลีคุปต์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการยังสับสนกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในส่วนของค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นมา ซึ่ง จ.สุรินทร์ค่าแรงขั้นต่ำเดิมอยู่ที่วันละ 226 บาท ต้องปรับสูงขึ้นถึงประมาณ 60% รวมทั้งอยากฝากรัฐบาลควรควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เกิดประโยชน์ต่อการขึ้นค่าแรง 300 บาทด้วย เพราะหากควบคุมราคาสินค้าไม่ได้ ปัญหาทุกอย่างก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ได้สร้างปัญหาและความปั่นป่วนแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคตามจังหวัดต่างๆ โดยขณะนี้ที่ จ.สุรินทร์ จากการติดตามสถานการณ์ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าส่งออก และสถานประกอบการที่ใช้แรงงานมาก พบว่า ล่าสุดโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีส่งออกของบริษัท บีม่า จำกัด ผู้ประกอบการชาวอินเดีย ตั้งอยู่ที่ อ.สังขะ ได้ปิดกิจการแล้ว 1 แห่ง และโรงงานผลิตชุดกีฬา ตั้งอยู่ อ.ลำดวน อีก 1 แห่ง ส่งผลให้พนักงานทั้ง 2 โรงงานต้องตกงานทันทีรวมกว่า 700 คน
นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่กำลังจะปิดกิจการอีก 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตรองเท้าที่ อ.ลำดวน และโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ อ.ท่าตูม รวมพนักงานกว่า 500 คน ซึ่งผู้ประกอบการให้เหตุผลว่าประสบปัญหาการขาดทุนและแบกรับค่าจ้างแรงงานไม่ไหว จำเป็นต้องปิดกิจการดังกล่าว
นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัท บีม่า จำกัด ของผู้ประกอบการชาวอินเดียนั้นทราบว่าประกอบกิจการโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออก ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, อ.เมืองนครราชสีมา, จ.ชัยภูมิ และ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ล่าสุดได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ต้องปิดกิจการทั้ง 4 โรงงาน และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมกว่า 2,000 คน
“ฉะนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศที่กำลังวิกฤตแบกรับภาระค่าจ้างแรงงานไม่ไหว โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์กำลังเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทะลักเข้ามาขายแรงงานผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ตามร้านอาหาร โรงสีข้าว โรงงานน้ำแข็ง และโรงงานต่างๆ เพราะจ้างค่าแรงได้ต่ำกว่า 300 บาท ซึ่งหวั่นเกรงว่าจะเกิดปัญหาด้านอาชญากรรม สังคม และความมั่นคงตามมาอีกมากมาย” นายเกรียงศักดิ์กล่าว