ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือผ่าน “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ถึงนายกรัฐมนตรี ยื่น 5 ข้อเรียกร้องช่วยเยียวยาครูเอกชน หลังได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนอัตรา 15,000 บาท-ค่าแรง 300 บาทต่อวัน
นายอินทร์ จันทร์เจริญ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะกรรมการสมาคมฯ และนายศิรภพ เจริญกุศล นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา วุฒิปริญญาตรี 15,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดนโยบายด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชนในรูปเงินเดือน การช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมทั้งการกำหนดอัตราเงินเดือนครูในโรงเรียนเอกชน ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ได้รับอัตราเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการ โดยกำหนดให้ครูวุฒิปริญญาตรีในโรงเรียนเอกชนให้ได้รับเงินเดือน 11,680 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค. 55 อัตราเงินเดือน 13,300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 56 อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 57
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ออกระเบียบฯ และประกาศฯ ตามที่อ้างถึง เพื่อให้การอุดหนุน ปรับเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนวุฒิปริญญาตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของโรงเรียนเอกชนอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาเอกชนอาชีวศึกษาเกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีนักเรียนตั้งแต่ 1,000 คนลงมา ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสภาวะการขาดทุน และไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะแบ่งรับค่าใช้จ่ายตลอดปีการศึกษา 2555 ได้อีกต่อไป และอาจถึงขั้นต้องเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเผชิญสภาพปัญหาที่สะสมต่อเนื่อง
สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่นักเรียน บุคลากรครู ลูกจ้าง และสถานศึกษาเอกชน 5 ประเด็น คือ
1. ขอให้รัฐส่งเสริมสิทธิโอกาสความเท่าเทียมทางการศึกษา แก่นักเรียนในสถานศึกษาเอกชน ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 49 โดยการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวแก่นักเรียนในสถานศึกษาเอกชนเทียบเท่า นักเรียนภาครัฐ ให้ครบถ้วนร้อยละ 100 โดยผู้ปกครองไม่ต้องการรับภาระจ่ายค่าเล่าเรียนร้อยละ 30 ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
2. ขอให้ระงับการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2555 ณ วันที่ 14 พ.ย. 2555 และทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เรื่องให้การอุดหนุนเพื่อปรับเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนวุฒิปริญญาตรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลพิจารณาเยียวยาเงินเดือนเพิ่มให้แก่บุคลากรครู และลูกจ้างในโรงเรียนเอกชนเป็นรายบุคคล ให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามนโยบาย อัตราเงินเดือน 11,680 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 อัตราเงินเดือน 13,300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 อัตราเงินเดือน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 และการเพิ่มค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้แก่ลูกจ้าง ที่รัฐกำหนดวันละ 300 บาท และต้องดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556
3. ขอให้รัฐส่งเสริมพัฒนามาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพ เสริมสร้างขวัญกำลังใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่บุคลากรครู ผู้บริหารในสถานศึกษาเอกชน โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินตอบแทนตามวิทยฐานะแก่บุคลากรครูผู้บริหารในสถานศึกษาเอกชน เช่นเดียวกับข้าราชการครู
4. ขอให้รัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษาเอกชนอย่างจริงจัง โดยพิจารณากำหนดโครงสร้าง-เพดานค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนในสถานศึกษาเอกชนที่รัฐต้องให้การอุดหนุนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐที่เป็นจริงในทุกระดับ เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพ
และ 5. ขอให้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้เอกชนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรการคุ้มครองการลงทุนทางการศึกษาของภาคเอกชน และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยการดำเนินนโยบายส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนทางการศึกษาของภาคเอกชนตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 49 มาตรา 80 (3) (4) และมาตรา 84 (1) (2) ต่อไป
ด้านนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า จะรับหนังสือไว้เพื่อแจ้งให้ทางนายกรัฐมนตรีทราบ และหาแนวทางช่วยเหลือกันต่อไป