เชียงราย - การค้า 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนโตไม่หยุด ครึ่งปีแรก 55 ขยายตัวกว่า 20% เชื่อหลังเปิดใช้สะพานข้ามน้ำโขง 4 มูลค่าการค้าเพิ่มอีกมหาศาล เตือนภาคเหนือทำแผนภาพรวม เร่งจัดโซนนิ่ง วางระบบการค้ารองรับด่วน
วันนี้ (25 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่าสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายได้สรุปมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ พม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2555 ว่ามีมูลค่ารวม 32,287.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 5,746.92 ล้านบาท หรือ 21.65% แยกเป็นการส่งออก 28,680.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.83% นำเข้า 3,606.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.04% โดยเป็นการค้าระหว่างจ.เชียงราย กับจีนตอนใต้ 7,756.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.20% แยกเป็นส่งออก 4,959.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.19% นำเข้า 2,826.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.24%
ด้านการค้ากับพม่า 12,147.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.32% แยกเป็นส่งออก 11,992.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.04% นำเข้า 155.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.04% กับ สปป.ลาว 12,353.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.75% แยกเป็นส่งออก 11,728.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.91% นำเข้า 624.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.83%
นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในอนาคตมูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน เปิดใช้อย่างเป็นทางการราวเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งรวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย เพราะเส้นทางคมนาคมสะดวก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นไปในภาพรวม ยังต้องพัฒนาในระบบย่อยเพื่อรองรับการค้าในอนาคตด้วย ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่ต้องพัฒนาในปี 2556 เป็นต้นไป คือปรับแผนพัฒนาภาคเหนือ 13 จังหวัดในภาพรวม เพื่อรองรับประโยชน์ที่จะได้จากการเปิดประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน และจีนตอนใต้ เพราะที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดมีแผนแต่ไม่เชื่อมโยงถึงกัน บางครั้งเป็นลักษณะเพื่อประโยชน์ของแต่ละจังหวัด
“ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่มากมาย แต่มุ่งพัฒนาไปตามวิสัยทัศน์ของตัวเอง ไม่ได้รองรับการพัฒนาองค์รวมของประเทศหรือภูมิภาคได้ อำเภอชายแดนด้านจ.เชียงราย ก็ยังไม่กำหนดพื้นที่หรือโซนนิ่งที่ชัดเจน จะทำให้การพัฒนาในอนาคตมีปัญหา เพราะไม่มีใครรู้ว่าพื้นที่ใดควรจะลงทุนหรือประกอบกิจการประเภทไหนดี เช่น อ.เชียงของ ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา และ ส.ป.ก.4-01 ทับซ้อนกับเขตที่ควรเป็นพาณิชยกรรม และเชิงสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 จึงหวังว่าการทำโซนนิ่งจะเกิดขึ้น โดยกำหนดเขตให้ชัดเจน”
นายเฉลิมพลกล่าวว่า สำหรับการทำโซนนิ่งนั้นส่วนหนึ่งควรเป็นเขตอุตสาหกรรมเบา เพื่อรองรับการลงทุนด้านการแปรรูปสินค้า ส่วนระบบขนส่งที่จะมีการก่อสร้างบนพื้นที่เชิงสะพานข้ามโขง เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าของกระทรวงคมนาคม 200 ไร่ ตนเห็นว่าไม่เพียงพอ น่าจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนเพื่อขยายพื้นที่รองรับการกระจายสินค้าในอนาคตด้วย ขณะเดียวกันเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องดำเนินการ เพราะจะทำให้ลดต้นทุน สร้างแรงจูงใจให้เกิดการค้าการลงทุน รวมทั้งรองรับการทะลักเข้ามาของสินค้า เพราะสามารถใช้พื้นที่บางจุดในเขต ทำการแปรรูปหรือบรรจุหีบห่อเพื่อการกระจายสินค้าต่อไปได้