xs
xsm
sm
md
lg

คนน่านข้องใจ! วัฒนธรรมจังหวัดทำแผ่น walking street ไร้อัตลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - ชาวน่านข้องใจหนักบุกเข้าพบวัฒนธรรมจังหวัดฯ ขอคำชี้แจงแผ่นโครงการทำ walking street แปะทางเท้าทั่วเมืองน่าน ไร้อัตลักษณ์ความเป็น “เมืองน่าน”

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายยุทธศักดิ์ นิมมาน อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 ชุมชนบ้านพญาภู ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ได้เดินทางเข้าพบนายเพิ่มสุข เจ้ยทองศรี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน เพื่อสอบถามและขอฟังคำชี้แจงกรณีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่านจัดทำแผ่นคอนกรีตบอกทางเท้า walking street ฝังบนผิวถนนผ่านเส้นทางเดินเท้าต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองน่าน จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความจำเป็น และการแสดงอัตลักษณ์น่าน

นายยุทธศักดิ์ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพญาภู เขตเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งมีแผ่นบอกทางเท้ามาฝังแปะไว้ตามถนนในชุมชน แต่ละจุดมีระยะห่างประมาณ 10 เมตรตลอดเส้นทาง สร้างความสงสัยให้แก่คนในชุมชน บอกว่าต้องการทราบความชัดเจนของโครงการและต้องการให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นถึงแผ่นบอกทางเท้า ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นคอนกรีตสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 1x1 ฟุต มีลูกศรและข้อความภาษาอังกฤษว่า walking street เท่านั้น ซึ่งในมุมมองของประชาชนเห็นว่าไม่ได้แสดงความเป็นอัตลักษณ์น่านแต่อย่างใด

นายยุทธศักดิ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวโดยหลักการถือได้ว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน อำนวยความสะดวกด้านทิศทางให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพียงแต่แผ่นบอกทางดังกล่าวยังไม่สามารถระบุตำแหน่งหรือทิศทางเพื่อการเดินชมเมืองน่านได้อย่างเหมาะสม ขาดความเป็นอัตลักษณ์ของน่านด้วย ซึ่งหากนำแผ่นดังกล่าวไปติดไว้ที่จังหวัดอื่นก็ไม่สามารถระบุได้ว่าแผ่นบอกทางเท้านี้เป็นของจังหวัดน่าน

นายยุทธศักดิ์ได้เสนอความคิดเห็นด้วยการนำภาพตัวอย่างฝาท่อระบายน้ำของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงลายกราฟิกเป็นลายเส้นดอกซากุระและปราสาทประจำเมือง แสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองนั้น และยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก กลายเป็นจุดขายของเมืองได้ด้วย ซึ่งหากจะนำมาปรับใช้กับแผ่นบอกทางเท้าก็ควรจะมีสัญลักษณ์หรือสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นเมืองน่านด้วย

ด้านนายเพิ่มสุข เจ้ยทองศรี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน กล่าวชี้แจงว่า เป็นผู้รับผิดชอบงานในส่วนกิจกรรมการจัดทำเส้นทางเดินทางเท้า เส้นทางจักรยาน และป้ายแสดงเส้นทาง รวมทั้งจัดทำที่จอดรถจักรยาน งบประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายกิจกรรมของโครงการอัตลักษณ์ล้านนาน่านที่มีงบประมาณรวมทั้งหมด 1.2 ล้านบาท

ในส่วนป้ายบอกทางเท้าที่เป็นแผ่นคอนกรีตเป็นการออกแบบของฝ่ายโยธาธิการฯ ซึ่งเป็นการออกแบบที่มุ่งเน้นในส่วนการใช้งานจนไม่ได้คำนึงถึงด้านความสวยงาม เนื่องจากแนวคิดและนโยบายการจัดทำแผ่นบอกทางเดินเท้านั้นยังไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน จังหวัดน่านจึงถือเป็นจังหวัดแรกที่มีการทำแผ่นป้ายบอกทางเท้า ทางฝ่ายออกแบบจึงต้องการให้เป็นลักษณะสากล และใช้งานได้จริง

อย่างไรก็ตาม ข้อติติงและข้อเสนอแนะต่างๆ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งจะรวบรวมนำไปเสนอผู้บริหารระดับสูงได้พิจารณาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น