xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการพบผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เสนอผลงานวิจัยหมอกควันไฟป่า เสนอ “ชิงเผา” ล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - นักวิชาการเชียงใหม่หอบข้อมูลงานวิจัยปัญหาหมอกควันไฟป่าเข้าหารือผู้ว่าฯ หวังให้ภาครัฐใช้ข้อมูลเตรียมวางแผนรับมือ ชี้พื้นที่โซนใต้เผาเยอะ การเผาเพื่อเพาะปลูกขยายตัว พร้อมเสนอแผน “ชิงเผา” ลดปริมาณเชื้อเพลิงก่อนถึงช่วงวิกฤตเดือนมี.ค.

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม 5 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานรับฟังการนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อการหารือแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันและไฟป่า ที่นสธ.ได้ให้งบประมาณสำหรับการวิจัยในหลายโครงการ วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาหมอกควันและไฟป่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้พิจารณา และใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนแก้ปัญหาปี 2556

ทั้งนี้ นักวิชาการซึ่งนำโดย ผศ.ดร.ศุทธินี ดนตรี ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยต่อที่ประชุม โดยระบุว่าบริเวณที่มีการเผาไหม้ทุกปีมี 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1. รอยต่อระหว่าง อ.แม่แจ่ม-อ.ฮอด-อ.จอมทอง-อ.ดอยเต่า 2. รอยต่อระหว่างอ.แม่แตง-อ.พร้าว-อ.สันกำแพง และ 3. บริเวณอ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ อ.ฝาง โดยเป็นการเผาที่ทำซ้ำในบริเวณเดิมเป็นประจำ ขณะที่ทิศทางและลำดับการเผาจะเริ่มจากพื้นที่ราบในจังหวัดก่อน ทั้งด้านใต้ ตอนกลาง และด้านเหนือ แล้วค่อยขยายขึ้นที่สูงตามลำดับ โดยจะพบพื้นที่เผาทางใต้มากกว่าตอนกลางและด้านเหนือ

ขณะที่ข้อสรุปที่ได้จากการวิจัยพบว่า 1. พื้นที่การเผาที่ค้นพบมีมากกว่าที่เคยมีการรายงาน รวมทั้งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณเดิม 2. การเผาไหม้เกิดขึ้นไม่พร้อมกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับระดับความสูง ความชื้น ชนิดของสิ่งปกคลุมดิน และการใช้ที่ดิน ซึ่งทำให้การจัดการปัญหาควรจะมีทางเลือกที่หลากหลาย 3. การเผาไหม้จากการปลูกพืชไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพบว่าในภาคเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี 4. ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพในการแก้ปัญหา หากให้สิทธิในการจัดการปัญหาและตัดสินใจ รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุน 5. ควรมีการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ชุมชนท้องถิ่นให้การยอมรับ และสามารถนำไปปฏิบัติได้

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้เสนอแนวทางการ “ชิงเผา” และ “จัดระเบียบการเผา” โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อลดปริมาณสะสมของเชื้อเพลิงในป่า และหลีกเลี่ยงการก่อปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงวิกฤต โดยได้นำเสนอผลงานจากโครงการวิจัย “การลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยการจัดการเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดจำนวนไฟป่า : กรณีศึกษา ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่” ซึ่งพบว่าการชิงเผาและการผสมผสานการทำแนวกันไฟ ช่วยให้ไม่เกิดการเผาไหม้ขึ้นในพื้นที่ทดลองอีกหลังจากทำการชิงเผาไปแล้ว รวมทั้งสามารถเปลี่ยนเวลาการเกิดไฟไหม้รุนแรงให้เกิดในช่วงก่อนเวลาวิกฤตที่สภาพอากาศยังพอรองรับได้ อีกทั้งอัตราการลุกลามของไฟยังไม่เร็วและไม่รุนแรง สามารถควบคุมการเผาไหม้ให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนดโดยใช้คนจำนวนไม่มาก

นายธานินทร์กล่าวภายหลังการรับฟังการนำเสนอข้อมูลว่า จังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนเตรียมรับมือปัญหาหมอกควันและไฟป่าแล้ว โดยเริ่มต้นประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในแต่ละท้องที่ รวมทั้งให้หน่วยงานในแต่ละอำเภอรวบรวมข้อมูลการเผาเพื่อนำเสนอต่อจังหวัด สำหรับใช้ในการประเมินสถานการณ์ และกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งการได้รับข้อมูลจากงานวิจัยในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้การกำหนดพื้นที่เป้าหมายทำได้ง่ายขึ้น

“ข้อเสนอชิงเผานั้นถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะต้องพิจารณา เพราะแม้การเผาจะไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่การลดปริมาณเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงมากก็ถือเป็นวิธีการที่ให้ผลลัพธ์น่าสนใจ โดยการชิงเผาแม้จะเกิดหมอกควันแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง รวมทั้งยังเหมาะสมกับสภาพสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหลังจากนี้คงจะนำแนวคิดดังกล่าวไปหารือกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อลดการเผา และการจับตาดูพื้นที่เป้าหมายที่มีการเผาสูง เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น