ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศาลสั่งจำคุกไพร่แดงขอนแก่น 3 ปี คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บุกรุกยุยงก่อความไม่สงบ ใช้กำลังประทุษร้ายเผาสถานีโทรทัศน์ NBT ขอนแก่น 19 พ.ค. 53 เผยพฤติการณ์จำเลยไม่เคารพยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองจึงไม่รอลงอาญา ด้านทนายเผยไม่ยื่นอุธรณ์ ปล่อยนอนในเรือนจำต่อ
วันนี้ (13 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาตัดสินคดีความ ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ นายอุดม คำมูล จำเลย คดีก่อให้เกิดเพลิงไหม้ บุกรุก ความผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยกับพวกร่วมกันมั่วสุม และกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ณ บริเวณที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยจำเลยกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการจุดไฟเผากองยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ใช้กำลังผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และบุกรุกเข้าไปในอาคารที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ตระเตรียมเพื่อวางเพลิงอาคารและทรัพย์สิน มูลค่า 222,552,600 บาท ซึ่งต่อมามีคนร้ายวางเพลิงสถานที่ดังกล่าวจนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 215, 217, 218, 219, 362, 364, 365 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5, 9, 11, 18 ขอให้ริบของกลาง แต่จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ และจำเลยแล้ว มีข้อวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยร่วมกันมั่วสุม กระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุกเข้าไปในที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น และมีเหตุการณ์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความยืนยันอย่างสอดคล้องต้องกัน ประกอบกับมีพยานหลักฐานอื่น เช่น ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยมีความผิด
ส่วนข้อวินิจฉัยประการที่สองที่จำเลยร่วมกันตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาอาคารสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่เบิกความยืนยันว่ารู้เห็นถึงการกระทำของจำเลย และมีเหตุสงสัยตามสมควรที่จำเลยกระทำความผิดในข้อหานี้หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง
พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามข้อวินิจฉัยประการแรก โดยข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นบทความผิดที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาร่วมกันบุกรุกลงโทษจำคุก 1 ปี รวมความผิดสองกระทง ลงโทษจำคุก 3 ปี
กรณีมีเหตุบรรเทาโทษจากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน และคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 2 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองในภาวะที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายแตกแยก และเพื่อมิให้บุคคลอื่นถือเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่รอการลงโทษ
นายประยง แก้วฝ่ายนอก ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า คดีนี้คงจะไม่ยื่นอุธรณ์ หากยื่นอุธรณ์ต้องต่อสู้ทางคดีอีกนาน คงให้ผู้ต้องหาต้องโทษในเรือนจำต่อ เพราะที่ผ่านมานายอุดมถูกจำคุกในคดีนี้มาแล้วประมาณ 1 ปี 2 เดือน หากจำคุกต่ออีกไม่ถึงปีก็น่าจะทำเรื่องลาพักโทษได้