บุรีรัมย์ - พนักงาน รง.ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ร่วม 100 คน ออกมาร้องขอความช่วยเหลือ หลังบริษัทได้แจ้งโยกย้ายพนักงานไปช่วยทำงานสาขาอื่นที่อยู่ห่างไกลถึง 140 กม.โดยไม่เต็มใจ และไม่มีรถรับ-ส่ง แฉแผนนายจ้างบีบทางอ้อมเพื่อต้องการปรับลดลอยแพพนักงาน หนีพิษค่าแรง 300 บาทที่รัฐบาลประกาศเริ่ม ม.ค. 56
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 บ.พุทไธสง ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ พนักงานและลูกจ้าง จำนวน 99 คน นำโดย นางคำปัน ก่ำแก้ง แกนนำ ได้รวมตัวกันที่โรงอาหารของบริษัทฯ เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และว่าที่ ร.ต.อภินันท์ เผือกผ่อง นายอำเภอพุทไธสง ช่วยเหลือกรณีบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 จะโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่โรงงานสาขาการ์เมนท์ 5 ในเขต อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากทางบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ได้มีประกาศให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 โดยที่พนักงานไม่เต็มใจไป รวมทั้งประกาศที่ทางนายจ้างแจ้งให้ทราบนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่า 30 วัน คือหนังสือประกาศลงวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ตัวแทนของนายจ้างยื่นต่อตัวแทนของลูกจ้างให้ทราบในวันที่ 10 ธันวาคม 2555 โดยให้พนักงานย้ายไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
โดยนายจ้างอ้างเหตุผลว่า ทางบริษัทฯ มีคำสั่งซื้อสินค้าลดลงทำให้ปริมาณของงานลดลง ไม่เพียงพอต่อการทำงานของพนักงาน เป็นการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตสินค้าและด้านพลังงานเพื่อที่จะให้พนักงานทำงานอย่างทั่วถึง ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวนี้ ทางฝ่ายลูกจ้างเห็นว่ามิใช่เหตุผลอันควร เนื่องจากการโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ในครั้งนี้นั้น ทางบริษัทฯ ของนายจ้างไม่มีสวัสดิการรถรับ-ส่งให้พนักงานเลย ซึ่งการเดินทางไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์มนท์ 5 จะต้องใช้เวลาไป-กลับนานถึง 4 ชั่วโมง 50 นาที รวมระยะทาง 140 กิโลเมตรต่อการเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน
ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้พนักงานไม่สามารถย้ายไปทำงานตามที่นายจ้างแจ้งประกาศได้ เพราะลูกจ้างเห็นว่ามีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างและครอบครัว มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการทำงานของลูกจ้าง อีกทั้งไม่มีเวลาดูแลครอบครัวดูแลบุตรเพราะพนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รวมถึงความปลอดภัยในการเดินทางและระยะเวลาในการเดินทาง
นางคำปัน ก่ำแก้ง ตัวแทนพนักงานบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 กล่าวว่า พนักงานบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ทำงานที่นี่มานานกว่า 5 ปี ไม่มีความประสงค์จะไปช่วยงานชั่วคราวที่โรงงานการ์เมนท์ 5 แต่ขอให้ทางบริษัทฯ เอางานมาให้ทำที่บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 เหมือนเดิม
แต่หากทางบริษัทฯ ไม่ยินยอม ฝ่ายพนักงานในฐานะลูกจ้างขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บอกเลิกสัญญาจ้าง ขอให้ทางฝ่ายนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายลูกจ้างบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ครั้งนี้ด้วย
“การโยกย้ายพนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 อ.เมืองบุรีรัมย์ เป็นการบีบพนักงานลูกจ้างทางอ้อม เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทของรัฐบาลที่จะเริ่มในเดือน ม.ค. 2556 จึงทำให้ทางบริษัทฯ พยายามปรับลดพนักงานลง แล้วอ้างเหตุให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่อื่นแทน ซึ่งปัจจุบันพนักงานได้ค่าจ้างวันละ 232 บาท หากบริษัทฯ ยังยืนยันจะให้พนักงานไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 ตามประกาศ พวกเราคงต้องเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” นางคำปันกล่าว
ด้าน นายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า จะเรียกทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างของบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 มาเจรจาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับข้อเรียกร้อง คือพนักงานไม่มีความประสงค์จะไปช่วยงานชั่วคราวที่การ์เมนท์ 5 แต่ขอให้ทางบริษัทฯ เอางานมาทำที่บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตามเดิม และหากบริษัทฯ ไม่ยินยอม ทางพนักงาน ลูกจ้างขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บอกเลิกสัญญาจ้าง ขอให้ทางฝ่ายนายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย