ตาก - ชาวกะเหรี่ยงและนักเรียนศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส CDC แห่ร่วมงานวันเกิด “หมอซินเทีย” แพทย์ไร้พรมแดนชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยง วัย 53 ปี แน่น “แม่ตาวคลินิก” ที่แม่สอด “มาร์ค” ดอดเยี่ยมให้กำลังใจเด็กด้อยโอกาสชาวกะเหรี่ยง
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส หรือซีดีซี ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ชาวกะเหรี่ยง และนักเรียนซีดีซี รวมทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ และชาวไทยในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมงานวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 53 ปี ของ พญ.ซินเทีย หม่อง แพทย์ไร้พรมแดน ที่ได้รับสมญาว่า “แม่พระของชาวกะเหรี่ยง”
โดยได้จัดงานกันตั้งแต่เช้า มีการเป่าเทียนเค้กวันเกิดและกล่าวอวยพร ท่ามกลางข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะเดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจที่ศูนย์ฯ ด้วย
พญ.ซินเทียกล่าวกับผู้เข้าร่วมงานว่า จะเดินหน้าช่วยเหลือด้านพยาบาลและสาธารณสุขพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและพม่าต่อไป ซึ่งปัจจุบันแม่ตาวคลินิกได้ขยายอาคารเพิ่มขึ้นจนเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้อย่างน้อย 160 เตียง บุคลากรเกือบ 600 คน และกำลังจะขยายเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้บริการรักษาโรคและดูแลสุขภาพถึง 11 โครงการ ตั้งแต่โรคทั่วไป ผ่าตัดเบื้องต้น ผดุงครรภ์ สุขภาพเด็ก ห้องแล็บ และธนาคารเลือด ผ่าตัด ผลิตขาเทียม ป้องกันเอชไอวี รักษามาลาเรีย ตรวจวัณโรค และส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงการให้บริการดูแลสุขภาพและความรู้กับชุมชนแรงงานอพยพในพื้นที่อำเภอแม่สอดและอำเภอใกล้เคียง
ทั้งนี้ การจัดงานวันคล้ายวันเกิดวัย 53 ปี ของ พญ.ซินเทีย เพื่อแสดงความยินดีกับหมอไร้พรมแดนชาวกะเหรี่ยง ที่ต่อสู้กับปัญหาต่างๆ เพื่อให้เด็กชาวกะเหรี่ยงได้เข้าโรงเรียน รวมทั้งการเปิดคลินิกแม่ตาว เพื่อรักษาประชาชนที่เจ็บไข้ จน พญ.ซินเทียได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ไร้พรมแดน ตลอดจนได้รับรางวัลแมกไซไซ และรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ
หมอซินเทีย หม่อง เป็นชาวพม่า เชื้อสายกะเหรี่ยง เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2502 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เมื่อเรียนจบแทนที่จะเปิดคลินิก หรือเป็นแพทย์อยู่ในประเทศบ้านเกิด แต่กลับต้องลี้ภัยมาอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ด้วยเหตุผลทางการเมืองในประเทศพม่า โดยเริ่มก่อตั้งคลินิกแม่ตาว ปี 2531 เมื่อครั้งกลุ่มนักศึกษาพม่าหลายคนที่หนีภัยการเมืองแถบชายแดนพม่าที่ติดกับจังหวัดตาก โดยหาสถานที่สำหรับพักฟื้นผู้ป่วยเหล่านี้ก่อนและหลังเข้าโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยในท้องถิ่น องค์การด้านศาสนา และองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาประเทศ จนก่อตั้งคลินิกแม่ตาวขึ้นมาได้