xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.แม่ฮ่องสอนเปิดคลินิกฯ บนแพใน “สาละวิน” สกัดมาลาเรียระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งแก้ไขปัญหาโรคตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะโรคมาลาเรียที่มีการแพร่ระบาดตามแนวชายแดนไทย
แม่ฮ่องสอน - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนเปิดมาลาเรียคลินิกชุมชนชายแดนบนแพในแม่น้ำสาละวิน ให้บริการตรวจรักษาโรคมาลาเรียประชาชนแนวชายแดนไทย-พม่า

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เชื้อมาลาเรียที่พบในประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัมบริเวณชายแดนไทย-พม่า พบร้อยละ 70 รองลงมา คือพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ พาหะคือยุงก้นป่อง ซึ่งพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนมีอาณาเขตติดประเทศพม่า และมีปัญหาการแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรียในอัตราที่สูงของจังหวัด เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับยุงพาหะ และมีแรงงานต่างชาติชาวพม่าเดินทางเข้า-ออกผ่านหลายหมู่บ้านของอำเภอสบเมยตลอดเวลา

โดยปัจจุบันยังพบมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่ตามข้อมูลการให้บริการตรวจคัดกรองโรคมาลาเรียในหมู่บ้านชายแดนอำเภอสบเมย ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2555 จำนวน 575 ราย พบเชื้อมาลาเรียชนิด PF (พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม) จำนวน 107 ราย และเชื้อมาลาเรียชนิด PV (พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ) จำนวน 63 ราย จำเป็นต้องมีระบบการดูแลรักษา เฝ้าระวัง ติดตามควบคุม-ป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทยและจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ได้รับการตรวจรักษาโรคมาลาเรียตามแผนการรักษาที่ถูกต้อง

ดังนั้น สสจ.จึงได้ดำเนินงานจัดตั้งคลินิกมาลาเรียชุมชนขึ้นในพื้นที่แนวชายแดนบ้านสบเมย อ.สบเมย โดยคลินิกดังกล่าวได้จัดตั้งบนแพในแม่น้ำสาละวิน โดยจัดตั้งบ้านสบเมย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการกองทุนโลกด้านมาลาเรีย รอบที่ 10 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการแนวชายแดนไทย-พม่า มีพนักงานมาลาเรียคลินิกชุมชนทำหน้าที่ให้บริการตรวจ และรักษาหากพบเชื้อ และมีเจ้าหน้าที่ช่วยให้ความรู้ด้านสุขศึกษาเรื่องมาลาเรียแก่ประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมติดตามการกินยาให้ครบกรณีพบผู้ป่วยมาลาเรีย คาดว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยไข้มาลาเรียได้รับการรักษาที่ปลอดภัยทุกราย

นพ.ไพศาลกล่าวต่อว่า สำหรับการป้องกันโรคมาลาเรีย ต้องนอนในมุ้ง ทายากันยุง เมื่อจำเป็นเข้าป่าเขาสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงก้นป่องกัด และหากมีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะหลังกลับออกจากป่าหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกมาลาเรียประจำหมู่บ้านชุมชน โดยบอกประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบเพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียและให้ยารักษาที่ตรงกับเชื้อ เมื่อป่วยจะต้องกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้รักษาหายขาดและไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น