ศรีสะเกษ - นายอำเภอภูสิงห์ และ จนท.ป่าไม้ศรีสะเกษบุกตรวจสอบกลุ่มอิทธิพล นายทุน-คนมีสีบุกรุกฮุบป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา แหล่งต้นน้ำกว่า 3,400 ไร่ พบป่าต้นไม้ถูกเผาตัดโค่นเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก เผยมีหลายกลุ่มจับกุมไปแล้วกว่า 60 ราย หลายรายถูกลงโทษแล้วกลับเข้าไปบุกรุกอีก ขณะนายทุนอิทธิพลแสบฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อ้างทำลายทรัพย์สินไร่มันสำปะหลัง
วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพระสถิต มหาเตโช เจ้าสำนักสงฆ์เขื่อนบ้านศาลา ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ได้นำเอาหลักฐานและภาพถ่าย กลุ่มนายทุนบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าพื้นที่ป่าชุมชน ต.โคกตาล ซึ่งเป็นป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา และเป็นแหล่งต้นน้ำบริเวณพื้นที่ติดกับสำนักสงฆ์เขื่อนบ้านศาลา เพื่อยึดครองปลูกสิ่งปลูกสร้างและพืชเศรษฐกิจอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายเป็นบริเวณกว้างกว่า 3,400 ไร่ เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน จ.ศรีสะเกษตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักสงฆ์เขื่อนบ้านศาลา ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอภูสิงห์ และคณะ ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ อส. อ.ภูสิงห์ และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก 4 จำนวน 10 นาย ได้เดินทางไปพบกับ พระสถิต มหาเตโช เจ้าสำนักสงฆ์เขื่อนบ้านศาลา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการบุกรุกป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลาตามที่มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชน ซึ่งพระสถิตได้นำข้อมูลแจ้งให้คณะของนายอำเภอภูสิงห์ได้ทราบ และจากการตรวจสอบรอบบริเวณป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลาพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ทำการตัดต้นไม้และเผาทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง บางแห่งต้นไม้เพิ่งถูกตัดโค่นใหม่ๆ และหลายแห่งมีการเผาทำลายป่าและปลูกพืชเศรษฐกิจขึ้นมาแทน เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ต้นกล้วย เพื่อเป็นการยึดครองที่ดินจำนวนมาก
นายนพ พงศ์ผลาดิสัย นายอำเภอภูสิงห์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ประสานงานกับ หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก 4 เพื่อมาร่วมกันตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าบริเวณที่มีการบุกรุกเป็นป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา เรื่องนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง เพราะว่าพื้นที่ที่มีการบุกรุกมีหลายจุด แต่ละจุดเป็นความรับผิดชอบของส่วนราชการหลายแห่ง โดยบางแห่งเป็นป่าตามมติ ครม. บางแห่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นป่าชุมชน
ในส่วนของป่าชุมชนเขาแดงนั้น ขณะนี้สำนักป่าไม้ 8 จ.นครราชสีมา ได้มีการตรวจสอบไปแล้วว่ามีใครเข้าไปยึดครองถูกต้องหรือไม่อย่างไร และมีการเรียกผู้บุกรุกเข้าไปทำการสอบปากคำหลายสิบราย เป็นเรื่องของป่าไม้ที่กำลังดำเนินการ ซึ่งหากพบว่ามีนายทุนอิทธิพลหรือว่ามีคนมีสีเข้าไปบุกรุกป่าแห่งนี้ตนจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทันที เพื่อรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารแห่งนี้เอาไว้ให้เป็นสมบัติของชาติไทย
นายมนต์ชัย อาจอุดม หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก 4 ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 270 ราย กินเนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่ โดยพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ป่าชุมชน และมีสำนักสงฆ์ด้วย ซึ่งได้มีการจับกุมผู้บุกรุกไปแล้วจำนวนประมาณ 60-70 ราย บางส่วนได้มีการลงโทษตามกฎหมายไปแล้ว ซึ่งบางรายก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่บุกรุกป่าชุมชนต่อไปเช่นเดิม ซึ่งตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้จำนวน 10 นายเข้าไปตรวจสอบเพื่อจับกุมดำเนินคดีอยู่เป็นประจำ และได้มีการตรวจสอบว่า หากมีการพิสูจน์ได้ว่าผู้บุกรุกเข้าไปทำกินอยู่ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ก็จะให้มีสิทธิทำกินอยู่ต่อไป แต่หากว่าเข้าไปบุกรุกหลังมติ ครม.ดังกล่าว ก็จะไม่มีสิทธิในที่ดินที่ยึดครองไว้
นายมนต์ชัยกล่าวต่อว่า จากการที่ได้ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ที่บุกรุกป่าชุมชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ ทำให้กลุ่มนายทุนอิทธิพลไม่พอใจและมีการฟ้องร้องกล่าวหาตนกับพวกว่าบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินที่เป็นไร่มันสำปะหลังเสียหาย และได้มีการยื่นฟ้องตนและกำนัน ต.โคกตาล กับพวกต่อศาล จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา และจะมีการนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 21 ม.ค. 2556 นี้ แต่ตนมั่นใจว่าพวกตนไม่ผิดเพราะว่าทำตามกฎหมายป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของชาติ เนื่องจากมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการบุกรุกเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลาอย่างชัดเจน และเรื่องนี้ตนได้รายงานให้หน่วยเหนือทราบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การบุกรุกป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลานี้ ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านแยกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งต้องการอนุรักษ์ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลาให้เป็นป่าชุมชนของชาติ ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งมีนายทุนอิทธิพลและคนมีสีสนับสนุนให้เข้าไปบุกรุกป่าเพื่อยึดครองเอาไว้เป็นสมบัติของตัวเอง จากนั้นก็จะขายที่ดินที่ยึดครองเอาไว้ให้นายทุนคนอื่น และทำการขยายพื้นที่ในการบุกรุกป่าเข้าไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกเรื่อยๆ