ลำปาง - สหพันธ์วายเอ็มซีเอพม่ายกคณะดูงานผลิตไอศกรีมเก่าแก่ลำปาง หวังนำไปต่อยอดถ่ายทอดให้เครือข่ายในบ้านเกิดได้ยึดเป็นอาชีพ ขณะที่เถ้าแก่ “ไอศกรีมบ้านดง” เจ้าดังของเมืองเขลางค์นคร บอกถ้าใจตั้งมั่นไม่ท้อ มีทุนแค่ห้าพันก็ทำได้
วันนี้ (22 พ.ย.) มูลนิธิ Y.M.C.A. เพื่อการพัฒนาภาคเหนือเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านการพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นำโดยนางสาวพัชรินทร์ อาวิพันธุ์ ผู้อำนวยการฯ ได้นำสมาชิกของสหพันธ์ Y.M.C.A. แห่งประเทศพม่ากว่า 20 คนเข้าชมและศึกษากระบวนการผลิตไอศกรีม ที่บ้านเลขที่ 277/3 ตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง ของนายสมหมาย พงษ์ไพบูลย์ อายุ 51 ปี อันเป็นที่ตั้งของโรงงานไอศกรีมบ้านดง ผู้ผลิตไอศกรีมเก่าแก่ของลำปางที่ดำเนินกิจการมาเกือบ 30 ปีจนเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดลำปาง เพื่อนำไปต่อยอดและเผยแพร่ให้สมาชิกที่สนใจได้นำไปทำเป็นอาชีพ
นายสมหมายได้เล่าถึงความเป็นมาของไอศกรีมบ้านดงว่า ได้เริ่มขายไอศกรีมตั้งแต่ปี 2523 เริ่มจากการไปรับซื้อไอศกรีมของร้านค้าเก่าแก่ในลำปางแล้วนำมาเร่ขาย เนื่องจากในช่วงแรกยังไม่มีเงินลงทุนจำนวนมากเพราะเครื่องปั่นไอศกรีมในสมัยนั้นยังคงมีราคาแพง เมื่อจำหน่ายไอศกรีมด้วยรถพ่วงอยู่ประมาณปีกว่าๆ ก็เริ่มมาลองทำไอศกรีมเอง โดยได้ภรรยาซึ่งเป็นลูกสาวของเจ้าของร้านทำไอศกรีมเดิมเป็นหลักในการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับสืบทอดมาจากบิดา-มารดา
เริ่มต้นด้วยการทำไอศกรีมแบบถัง บรรจุถังละ 8 กิโลกรัม นำไปตั้งจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ และรับทำตามออเดอร์ให้แก่เจ้าของงานที่มีการจัดงานเพื่อนำไปเลี้ยงแขก ขณะนั้นทำไอศกรีมรสกะทิสด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากชาวลำปางเป็นอย่างดี ยอดการผลิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้นจาก 5 ถัง จนเป็นวันละ 10-15 ถัง จำหน่ายราคาถังละ 400 บาท จนกระทั่งเป็นถังละ 600 บาท สามารถตักใส่ถ้วยได้ประมาณ 120 ถ้วย และได้ผลิตไอศกรีมแบบถังมานานถึง 10 ปี
จนกระทั่งปี 2548-2549 ยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมของลูกค้าโดยเฉพาะวัยรุ่น รวมถึงลูกค้าที่สั่งไอศกรีมไปใช้ในงานเลี้ยง งานสังสรรค์ รวมถึงงานศพ หันมาสั่งแบบถ้วยแทนแบบถังมากขึ้น จึงได้ผลิตไอศกรีมแบบถ้วยขึ้นมาเพิ่มและเพิ่มรสชาติเป็น 5 รส ซึ่งรสที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ กะทิ เผือก ซ่าหริ่ม วานิลลา ช็อกโกแลตชิป ส่วนแบบถังได้มีการเพิ่มรสรวมมิตรด้วย โดยจะจำหน่ายในราคาถังละ 700 บาท ส่วนแบบถ้วยจำหน่ายในราคาส่งคือถ้วยละ 4.5 บาท
สำหรับยอดจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน นายสมหมายเปิดเผยว่า ไม่มีผลกระทบ ยังคงมียอดจำหน่ายคงที่ และเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีไอศกรีมจากหลากหลายยี่ห้อเข้ามาสู่ตลาดก็ตาม เนื่องจากสินค้ามีต้นทุนการผลิตต่ำจึงจำหน่ายในราคาไม่แพง และไม่มีค่าการตลาด อีกทั้งลูกค้าชื่นชอบในรสชาติของไอศกรีม แต่ที่สำคัญคือหลัก 3 ประการในการทำธุรกิจที่ยึดมั่นมาตลอด คือ ความตั้งใจมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ซื่อสัตย์ และความเป็นกันเอง
ส่วนผู้ที่อยากจะทำอาชีพนี้ ตนเห็นว่าสามารถทำได้หากมีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ เพราะในช่วงแรกรายได้อาจจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากแต่ละฤดูกาลอาจจะมีการจำหน่ายได้แตกต่างกัน ขณะที่ผู้มีทุนน้อยก็ทำได้ เพียงมีเงินทุนเริ่มต้น 5,000 บาทก็สามารถทำได้แล้ว
“ปัจจุบันตลาดไอศกรีมในลำปางยังไม่ตัน หากไม่ท้อเสียก่อนก็สามารถทำเป็นธุรกิจที่มั่นคงได้ในอนาคต”