บุรีรัมย์ - เด็ก “ภูมิใจไทย” เครือข่าย “เนวิน” ผงาดยึด 7 เทศบาลบุรีรัมย์ได้รับยกฐานะใหม่ ด้าน กกต.บุรีรัมย์เผยเลือกตั้งใช้สิทธิพุ่งกว่า 70% ยังไม่มีร้องเรียน ขณะ ตร.คุมเข้มหลังเลือกตั้งหวั่นไข้โป้งระบาด พร้อมจับตาซุ้มมือปืนในทุกพื้นที่อำเภอ แฉซื้อเสียงระบาดหนัก บางเทศบาลสู้เดือดทุ่มซื้อหัวละ 1,000-1,500 บาท สะพัดกว่า 30-50 ล้านบาท
วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) จำนวน 7 แห่งใน 3 อำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วยเทศบาลเมือง (ทม.) ชุมเห็ด, เทศบาลตำบล (ทต.) บ้านบัว, ทต.หนองตาด อ.เมืองบุรีรัมย์, ทต.เขาคอก อ.ประโคนชัย, ทต.ศรีสตึก, ทต.ดอนมนต์ และ ทต.สะแก อ.สตึก
ปรากฏว่าผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ มีดังนี้ เทศบาลเมือง (ทม.) ชุมเห็ด สมัครนายกเทศมนตรี 3 คน คือ หมายเลข 1 นายสุวลักษณ์ เกลี้ยงไธสง อดีตนายก อบต.สมัยที่ผ่านมา ได้ 2,877 คะแนน หมายเลข 2 นายสมศักดิ์ แมนไธสง อดีตนายก อบต.สมัยที่ผ่านมา ได้ 4,871 คะแนน หมายเลข 3 นายสมชัย ไชยอุดม อดีตข้าราชการบำนาญ ได้ 440 คะแนน และหมายเลข 4 นางกัญญาณัฐ เกลี้ยงไธสง อดีตเลขานุการนายก อบต.ได้ 30 คะแนน
เทศบาลตำบล (ทต.) บ้านบัว สมัครนายกเทศมนตรี 3 คน คือ หมายเลข 1 นายกิตติพงษ์ รัตนศศิวิมล อดีตนายก อบต.บ้านบัว 3 สมัย ได้ 2,995 คะแนน หมายเลข 2 นายสาคร ปลื้มรัมย์ อดีตประธานสภา อบต.บ้านบัว ได้ 393 คะแนน และหมายเลข 3 นางชลนี หมั่นกิจ อาชีพอิสระ ได้ 2,417 คะแนน
เทศบาลตำบลหนองตาด สมัครนายกเทศมนตรี 2 คน คือ หมายเลข 1 นายณรงค์ ประพิณ อดีตนายก อบต.สมัยที่ผ่านมา ได้ 2,037 คะแนน หมายเลข 2 นายวินัด สิมรัมย์ ได้ 1,312 คะแนน และหมายเลข 3 นางสาวพิมานมาศ ทองรวง ได้ 1,986 คะแนน
เทศบาลศรีสตึก สมัครนายกเทศมนตรี 2 คน คือ หมายเลข 1 นายพงษ์ศักดิ์ โพธิ์ศรี อดีตนายก อบต.สมัยที่ผ่านมา ได้ 2,138 คะแนน และหมายเลข 2 นายทองสา เขียวงาม อดีตสมาชิก อบต.ได้ 1,483 คะแนน
เทศบาลตำบลดอนมนต์ สมัครนายกเทศมนตรี 2 คน คือ หมายเลข 1 นายสมจิตร วิรุณละพันธ์ ได้ 1,250 คะแนน หมายเลข 2 นายช่วย ศิลา ได้ 1,996 คะแนน
เทศบาลสะแก สมัครนายกเทศมนตรี 2 คน คือ หมายเลข 1 นายจตุพร จารุสิทธิกุล อดีตนายก อบต.สมัยที่ผ่านมา ได้ 1,860 คะแนน และหมายเลข 2 นายพัฒนะ พนมใส อดีตนายก อบต.เมื่อปี 2544 ได้ 1,765 คะแนน
เทศบาลตำบลเขาคอก สมัครนายกเทศมนตรี 3 คน คือ หมายเลข 1 นายประเสริฐ คะโนมาก ได้ 426 คะแนน หมายเลข 2 นางประมวล มาลัย ได้ 1,847 คะแนน และหมายเลข 3 นายวิเศษ สุวรรณวงษ์ อดีตรองนายก อบต. ได้ 2,357 คะแนน
ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีส่วนใหญ่เป็นอดีตนายก อบต.และบางคนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ และมีอดีตนายก อบต.สอบตก 1 คน คือ นายสุวลักษณ์ เกลี้ยงไธสง อดีตนายก อบต.ชุมเห็ด ซึ่งผู้ชนะล้วนเป็นคนของนักการเมืองในพื้นที่ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย เครือข่ายของ นายเนวิน ชิดชอบ ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวอย่างชัดเจน แต่เป็นที่รู้จักกันดีของคนในจังหวัด ทำให้การแข่งขันเข้มในหลายพื้นที่
ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ผู้ชนะเลือกตั้งส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในกลุ่มทีมงานของนายกเทศมนตรี และเป็นเครือญาติกันได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งคราวนี้สุภาพสตรีได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองไม่แพ้ชาย
ทางด้าน นายอภิรัตน์ จันทนฤกษ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลทั้ง 7 แห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นทั้งก่อน และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีประชาชนออกมาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละกว่า 70%
ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามายัง กกต. อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครคนใดเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม พบเห็นมีการทุจริตสามารถนำพยาน หลักฐานมาร้องเรียนได้ที่ กกต.จังหวัด ภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยส่งเรื่องให้ กกต.กลางพิจารณาต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.วิรัตน์ ถาดทอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ และเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งทางตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง หากผู้สมัครคนใดที่ได้รับเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับเลือกตั้ง หวั่นเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองความปลอดภัยได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งจุดสกัดตามเส้นทางที่คาดว่ากลุ่มคนแปลกหน้าที่คิดว่าเป็นมือปืนจะเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งกวาดล้างอาชญากรรมจับกุมกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ ผู้ค้า ผู้เสพสิ่งเสพติดทุกประเภท รวมไปถึงผู้มีคดีค้างเก่า และซุ้มมือปืนในทุกพื้นที่อำเภอด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก อบต.ทั้ง 7 แห่งใน 3 อำเภอหมดวาระเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2555 และกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะเป็นเทศบาล ซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงของกลุ่มผู้สมัครที่เคยอยู่กลุ่มเดียวกันมาก่อน แต่มาคราวนี้แยกตัวออกมาลงสมัครแข่งขันกันเอง และได้รับแรงสนับสนุนจากนักการเมืองระดับจังหวัดและระดับชาติทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เข้มข้น
มีรายงานข่าวแจ้งด้วยว่า บางเทศบาลที่มีการแข่งขันกันสูงระหว่างผู้สมัครด้วยกัน ทำให้มีการทุ่มเงินซื้อเสียงอย่างหนักเต็มพื้นที่ถึงหัวละ 1,000-1,500 บาท โดยจ่ายก่อนวันเลือกตั้ง และจ่ายซ้ำในวันเลือกตั้ง อีกทั้งมีการทุ่มเงินซื้อเสียงแบบเครือญาติ ทำให้มีกระแสเงินสะพัดในรูปแบบต่างๆ ช่วงการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 30-50 ล้านบาท