นักวิชาการ-อดีต กกต.ชี้เลือกตั้งแบบเก่าเอื้อให้เกิดพรรคใหญ่สองพรรค จุดชนวนแข่งขันเดือด เสนอปรับระบบยกเลิกใบเหลือง โยนศาลตัดสินปมทุจริตทั้งหมด ชี้ กกต.ขยายโครงสร้างกลายเป็นระบบราชการ ไม่เอื้อต่อการปฏิรูป แนะปรับใช้แบบเยอรมนีเพื่อให้ตรงเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ 12 ต.ค. ในการสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูประบบเลือกตั้ง” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ได้มีการจัดอภิปรายเรื่อง “แนวทางปฏิรูปการเลือกตั้ง : อำนาจหน้าที่ กกต. ระบบเลือกตั้ง และการวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง”
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากที่เปลี่ยนให้ กกต.มีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงก่อนประกาศผล ทำให้ กกต เน้นไปทางควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่กฎหมายไม่ได้บอกว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งเองเลย ส่วนตัวมองว่าการให้ใบเหลืองไม่ได้ผลเลย เพราะให้ไปแล้วชาวบ้านยังเลือกเหมือนเดิม ควรเลิกดีกว่า ส่วนใบแดงควรคงอยู่ สรุปคิดว่าภารกิจจัดการเลือกตั้ง กกต.หนักพออยู่แล้วทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ระบบการตัดสินความผิดเลือกตั้งควรจะให้เป็นของศาลเลยดีกว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียว โดยเลือกตั้งเสร็จประกาศผล แล้วส่งเรื่องทุจริตให้ศาล ซึ่งนำไปสู่ปลายทางคือการยุบพรรค จะได้ไม่เป็นปัญหา
สำหรับระบบการเลือกตั้งของประเทศไทยนั้น นายปริญญาเสนอว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมีส่วนช่วยให้เกิดการกระจายของที่นั่ง ส.ส.ไม่กระจุกอยู่กับพรรคใหญ่ และผลใกล้เคียงกับการตัดสินใจลงคะแนนของผู้โหวตโดยรวมมากกว่า ต่างกับระบบแบ่งเขตที่พรรคใหญ่เสียเปรียบ ซึ่งนำไปสู่การเกิดระบบสองพรรคการเมือง เพราะเสียงที่แพ้ในแต่ละเขตถูกทิ้งหมด โดยเฉพาะการเมืองแบ่งข้างชัดเจน เลือกตั้งอีกสองสามครั้งประเทศจะเหลือแต่พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่เหลือเป็นแค่ไม้ประดับ
“ปัญหาคือแบ่งเขต มี 75% นำไปสู่ระบบสองพรรค แต่แบบสัดส่วน 25% นำไปสู่หลายพรรค ถามว่าเราจะเอาทางไหนกันแน่ มี 30 ประเทศในโลกที่ใช้ระบบผสมแบบคู่ขนาน กับแบบผสมผสานหรือ MMP อย่างเยอรมนี คือเอามาคิดรวมให้ได้ ส.ส.แบบเขตก่อน แล้วเอาที่เหลือมาคิดสัดส่วน ทำให้สภาเขาสะท้อนเจตนารมณ์ตรงของประชาชน ซึ่งใช้อยู่ 9 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็หันมาใช้แบบ MMP ได้ ซึ่งประเทศอิตาลีที่ใช้ระบบนี้ก็มีสัดส่วน ส.ส.ตรงกับไทยคือ 75-25% โดยแก้รัฐธรรมนูญแค่มาตราเดียวเท่านั้น ซึ่งผมขอเสนอให้ใช้แบบเยอรมนี หรือระบบ MMP เลย ถ้าเราต้องการระบบเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ”
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวว่า การที่ กกต.ขยายเป็นระบบราชการเป็นอุปสรรคทำให้วัฒนธรรมราชการไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูป มีการขยายโครงสร้าง และงานเอกสารมากมายจนงานหลักด้านการส่งเสริมการเลือกตั้งที่ดีไม่เดินหน้า เกิดความเกรงใจนักการเมืองจนไม่กล้าเอาผิดแจกใบเหลืองให้ใบแดง
ด้านนายโคทม อารียา อดีต กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า ระบบเลือกตั้งปัจจุบันสมควรต้องเปลี่ยนแปลง เพราะเราเห็นปัญหาที่เกิดจากสภาพที่เอื้อให้เกิดพรรคใหญ่สองพรรค และก่อเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงจนไม่อาจแก้ปัญหา
“บ้านเมืองเราถ้ามีแค่สองพรรคผมคิดว่าอาจไม่เหมาะ เพราะเดิมพันอำนาจมันสูง การแย่งชิงกันจึงรุนแรงเพื่อเข้าสู่ศูนย์อำนาจ จึงคิดว่าควรจะเปลี่ยนแนวทางให้ได้พรรคการเมืองหลากหลายจะดีกว่า แต่รูปแบบการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ที่เคยใช้มามันไม่ได้ผล และไม่ได้ทำให้เกิดความหลากหลายของพรรคการเมืองอีกแล้ว เพราะพฤติกรรมการเลือกของประชาชนเปลี่ยนไป เริ่มมีการตัดสินใจเลือกพรรคมากขึ้นกว่าการเลือกตัวบุคคล”
นายโคทมเสนอว่า ระบบการเลือกตั้งที่ควรนำมาใช้มี 3 ทางเลือก คือ 1. ระบบคู่ขนาน (parallel system) หรือมีทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่ออย่างที่เป็นอยู่ แต่ปรับสัดส่วนให้เท่าๆ กันหรือใกล้เคียงกันมากขึ้น 2. ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม (Multi-Members Proportional MMP System) คือพรรคจะมีจำนวน ส.ส. เท่ากับ ส.ส.ที่ชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขต บวกกับเพิ่มจำนวนขึ้นหากคำนวณสัดส่วนของเสียงที่ได้ทั้งประเทศแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ และ 3. ระบบคะแนนเสียงเดียวโอนได้ (Singgle Transferable Vote STV system) ซึ่งมีวิธีคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่กระจายทุกคะแนนของผู้เลือกให้มีความหมายและผลต่อจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับระบบที่ 2 และ 3 เพราะสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้เลือกมากกว่า
ขณะที่นายสกุล สื่อทรงธรรม อดีต กกต.กทม. ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยถึงเวลาต้องปรับระบบเลือกตั้งแล้ว เพราะระบบที่ใช้อยู่เกิดปัญหาคนที่แพ้เลือกตั้งแล้วแพ้ไม่เป็น พยายามล้มฝ่ายที่เป็นรัฐบาลด้วยทุกวิถีทาง ตนเห็นว่าระบบผสม MMP แบบเยอรมนีน่าจะตอบสนองปัญหาที่เป็นอยู่ เพราะทุกคะแนนเสียงมีผลอย่างเป็นธรรม และทุกคนที่ใช้สิทธิจะรู้ว่าคะแนนที่ตนเองเลือกเข้าไปไปอยู่ที่ไหน
“อยากให้ กกต.เป็นเจ้าภาพให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งแก่ประชาชน โดยอาศัยคู่มือที่นำเสนอให้ และอาศัยสื่อที่ กกต.มีอยู่เผยแพร่ไปทั่วประเทศ ให้สังคมไทยได้รับรู้และตัดสินใจเลือก ซึ่งหลายประเทศสามารถใช้ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้”