พระนครศรีอยุธยา - รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่กรุงเก่า ตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดินพังทลายริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เวลา 14.30 น.วันนี้ (15 พ.ย.) นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายชาตรี อยู่ประเสิรฐ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชูเกียรติ มิ่งมาก นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และนายวิชิต อุตสาหกประดิษฐ์ กำนันตำบลบางชะนี อ.บางบาล ได้เดินทางมาที่วัดจุฬามณี ม.9 ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล เพื่อรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาดินพังทลายริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่าง ต.บางชะนี ไปจนถึง ต.ไทรน้อย อ.บางบาล เป็นระยะทางรวมแล้วกว่า 3 ก.ม.
โดยนายปรีชา กล่าวถึงการเดินทางมาครั้งนี้ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายจุดของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใน อ.บางบาล ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก กระทรวงจึงเร่งที่จะสรุปภาพความเสียหายทั้งปัจจุบัน และต่อเนื่องในการหาแนวทางแก้ปัญหา โดยเตรียมแนวทางที่จะแก้ไขเบื้องต้นเอาไว้แล้ว 2 แนวทางคือ การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในจุดที่มีการพังทลาย และจะพังทลาย และแนวทางที่สองคือ การจัดหาที่ดินใหม่เพื่อจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินที่รองรับ ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้จะต้องรอการสรุปแนวทางแก้ไขที่มีศักยภาพที่สุด และจะเร่งเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติเป็นงบประมาณดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายังมีพื้นที่อีกหลายหมู่บ้านที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการพังทลายของตลิ่ง เช่นใน ต.บ้านกุ่ม ซึ่งมี 9 หมู่บ้าน
ก่อนหน้านั้น นายชาตรี อยู่ประเสริฐ รองนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ได้ลงเรือสำรวจความเสียหายในลำน้ำเจ้าพระยาเขต อ.บางบาล ช่วง ต.บางชะนี ถึง ไทรน้อย ใช้เวลานานกว่า 1 ชม. จากนั้นนายชูเกียรติ์ มิ่งมาก นายกเทศมนตรีตำบลบางบาล เปิดเผยว่า เทศบาลพร้อมที่จะช่วยรื้อถอน และได้เสนอที่จะซื้อที่ดินเพื่อรองรับบ้านเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะมีราคาที่ดินตารางเมตรละ 1 แสนบาท ซึ่งเป็นเพียงความคิดเท่านั้น
วันเดียวกัน สภาพแม่น้ำป่าสักที่แห้งลดลงเร็วทำให้เรือลากจูงสินค้าติดแห้งเกยตื้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ยังได้สร้างความเสียหายส่งผลกระทบไปถึงริมตลิ่งตลอดแม่น้ำหลายจุดพังทลายคล้ายกับริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน โดยพบว่า ริมตลิ่งรอบๆ หมู่บ้านตีมีดอรัญญิก อำเภอนครหลวง กำลังประสบปัญหาริมตลิ่งทรุดตัวเริ่มทยอยพังทลาย ในจุดแรกไปพบว่าริมตลิ่งใกล้วัดจำปา ได้ทรุดตัวเป็นแนวทางยาวประมาณ 100 เมตร และริมตลิ่งที่นี้มีระดับสูง ทำให้แนวตลิ่งที่พังทลายไม่ต่างไปจากหน้าผาริมแม่น้ำขนาดใหญ่ ริมตลิ่งที่ทรุดตัวยังได้ พาบ้านพักของนายสมศักดิ์ ประสพเนตร อายุ 45 ปี ไม่มีเลขที่ ปลูกไว้พังทลายทรุดตัวลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาลึกกว่า 7-8 เมตร ต้องเก็บสิ่งของใช้หนี ปล่อยบ้านทิ้งไว้เนื่องจากยากแก่การรื้อถอนเนื่องจากสภาพดินด้านบนล่อแหลมจะพังทลายซ้ำลงมาอีก
นอกจากนี้ สะพานสาธารณะที่เทศบาลตำบลอรัญญิกสร้างเชื่อมใช้เป็นเส้นทางเดินของชาวบ้านริมตลิ่งแม่น้ำป่าสัก ก็ได้รับผลกระทบดินที่ทรุดตัวหายไป ส่งผลต่อเสาตอม่อสะพานต้องหลุดลอยค้าง เสี่ยงต่อการพังทลายของตัวสะพาน จนต้องติดป้ายห้ามรถ จยย.วิ่งผ่านหวั่นเพิ่มแรงสั่นสะเทือนสะพานพังลงมา แต่ยังเปิดให้ชาวบ้านใช้ได้ชั่วคราว นายสืบพงษ์ สอนพรหม อายุ 38 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง บอกว่าปัญหาริมตลิ่งพังเชื่อว่าเกิดจากสภาพของน้ำในแม่น้ำป่าสักที่ลดแห้งอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยหลัก
ส่วนที่สองทำให้ริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักพังมาจากการนำเรือขนถ่ายสินค้ากินน้ำลึกเข้ามาวิ่งทำให้ร่องน้ำลึกตลิ่งไม่สามารถรับน้ำหนักได้จนพังทลาย และอีกปัจจัยที่ทำให้ตลิ่งพังเกิดจากชั้นน้ำใต้ดินซึมไหลกัดเซาะทำให้แนวตลิ่งพังทลายง่ายขึ้น ปัญหาดังกล่าว นายสืบพงษ์ ยังบอกอีกว่า ปัญหาริมตลิ่งทรุดตัวชาวบ้านริมตลิ่งพยายามช่วยเหลือตัวเองไม่ให้ริมตลิ่งพัง ทำการปลูกต้นก้านเหลือง ซึ่งเป็นไม้น้ำยืนต้นยึดเกาะแนวตลิ่งป้องกันไม่ให้พังทลายได้ง่าย และยังปลูกผักตบชวามาปลูกเทียบบริเวณด้านหน้าของริมตลิ่งเพื่อลดแรงของลูกคลื่นเรือสินค้าที่วิ่งผ่านไปมาให้ซัดกัดเซาะริมตลิ่งน้องลง แต่ปัญหาดังกล่าวเกินกำลังที่ชาวบ้านจะป้องกันได้ เนื่องจากเรือมีขนาดใหญ่ลูกคลื่นแรงกินน้ำลึก