เชียงราย - ศาลจีนประหารชีวิต “หน่อคำ” พร้อมลูกน้องในกลุ่มกองกำลังติดอาวุธแม่น้ำโขง พร้อมจำคุกคนร่วมแก๊ง ฐานปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ 5 ตุลาคม 54 ขณะที่ 9 ทหารไทยที่ติดร่างแหคดีฆ่าผู้อื่น-ซ่อนเร้นอำพรางศพยังเงียบ ล่าสุดอยู่ในชั้นอัยการฯ พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่
หลังศาลประชาชนกลางคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ตัดสินโทษนายหน่อคำ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธในแม่น้ำโขง พร้อม Sang kang, Yilai, Za xika รวมเป็น 4 คน ส่วนอีก 2 คนที่เป็นลูกน้องในเครือข่าย มี 1 คนต้องโทษประหารชีวิต แต่รอลงอาญาอีก 1 คน ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา ในข้อหาก่อการร้าย ปล้น-ฆ่า ลูกเรือจีน 13 ศพ บนเรือจีน 2 ลำที่แล่นผ่านสามเหลี่ยมทองคำชายแดนพม่า-สปป.ลาว เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2554 นั้น
ในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีการดำเนินคดีต่อทหารไทยจำนวน 9 นายที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยมีการเรียกสอบปากคำทหารทั้งหมดและพยานที่เกี่ยวข้องพร้อมส่งให้อัยการสูงสุดไปแล้วตามกระบวนการยุติธรรมกรณีเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุนอกประเทศไทย และการสืบสวนสอบสวนในช่วงต้นได้พ้นจากชั้นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแล้ว
ล่าสุดเมื่อต้นเดือน ต.ค. 55 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ โดยได้มอบให้อัยการ จ.เชียงราย นำข้อมูลหลักฐานการชันสูตรพลิกศพของพนักงานสอบสวนส่งให้ศาล จ.เชียงราย ทำการไต่สวน โดยใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 2-5 ต.ค. 55 ซึ่งครบรอบ 1 ปีนับตั้งแต่วันเกิดเหตุพอดี
การไต่สวนดังกล่าวเป็นลักษณะตรวจสอบข้อมูลหลักฐานของการชันสูตรพลิกศพ ตั้งแต่สถานที่เกิดการเสียชีวิต สภาพศพ สถานที่พบศพ ฯลฯ โดยข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวข้องกับเอกสารการตรวจสอบต่างๆ โดยเฉพาะจากกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาล พนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ก็มีการไต่สวนจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ดังกล่าวกว่า 20 ปากด้วย
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หลังจากผ่านพ้นขั้นตอนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าวไปแล้ว ได้มีการส่งเรื่องกลับไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อนำไปประกอบสำนวนการพิจารณาคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไรต่อไป โดยจนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีก่อนหน้านี้ว่านอกจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพโดยศาล และทางอัยการต้องมีการตรวจสอบสำนวนให้รัดกุมแล้ว ยังต้องรอหลักฐานบางอย่างจากประเทศจีนเพื่อนำไปประกอบสำนวนด้วย ทำให้เกิดคำถามขึ้นเช่นกันว่า กรณีศาลเมืองคุนหมิงตัดสินประหารชีวิตนายหน่อคำ และพวกไปแล้ว ผลจากการให้ปากคำของนายหน่อคำ ที่มีทั้งระบุว่าลงมือเองและบางช่วงยังให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในประเทศจีนพาดพิงมาถึงเจ้าหน้าที่ของไทยจะมีผลต่อรูปคดีในประเทศไทยหรือไม่ด้วย
สำหรับคดียิงเรือสินค้าจีนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2554 ในเขตประเทศพม่า ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสนขึ้นไปประมาณ 25 กิโลเมตร โดยคนร้ายบุกเข้าปล้นเรือสินค้าจีน 2 ลำ คือเรือยู่ซิง 8 ซึ่งบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง และหวาผิง ซึ่งบรรทุกกระเทียมและแอปเปิล จากนั้นเรือได้ปล่อยเรือลอยลำเข้ามาเทียบฝั่งไทยที่บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน โดยมีทหารกองกำลังผาเมืองของไทยเข้าควบคุมตรวจสอบในเรือพบยาบ้าในเรือทั้ง 2 ลำ รวมกัน 920,000 เม็ด ต่อมาจึงพบศพลูกเรือทยอยลอยมาติดฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้รัฐบาลไทยเร่งคลี่คลายคดี จนมีการดำเนินคดีต่อนายทหารจากกองกำลังผาเมืองรวม 9 นาย ในข้อหาฆ่าผู้อื่นและปิดบังซ่อนเร้นศพ
ขณะที่สถานการณ์การค้าชายแดนทางเรือแม่น้ำโขง ตั้งแต่เกิดเหตุสะเทือนขวัญปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าปริมาณเรือสินค้าจีนลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม แต่เรือสินค้าสัญชาติลาวกลับเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นเรือขนาดไม่เกิน 100 ตัน โดยมีกองกำลังของจีน พม่า สปป.ลาว และไทยคุ้มกันหลังการจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) แล้ว