บุรีรัมย์ - คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าว จ.บุรีรัมย์ติวเข้ม ตร.-จนท. ผู้ช่วย อคส.และผู้แทนเกษตรกร ที่ทำหน้าที่ประจำจุดรับจำนำ ซักซ้อมขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานและหลักเกณฑ์โครงการ พร้อมสาธิตการตรวจสอบคุณภาพข้าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและหวังป้องกันการทุจริต เผยล่าสุด จ.บุรีรัมย์ยังไม่สามารถเปิดรับรับจำนำได้ เหตุ 19 โรงสี รอไฟเขียวร่วมโครงการฯ
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดบุรีรัมย์ คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับจังหวัด จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย การค้าภายในจังหวัด, เกษตรจังหวัด, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ผู้ช่วย อคส. และผู้แทนเกษตรกรที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประจำจุดรับจำนำข้าวของโรงสีทั้ง 19 แห่ง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เข้าร่วมประชุมให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ รวมถึงหลักเกณฑ์โครงการรับจำนำ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้เกษตรกรได้รับความสะดวกและเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริต และการสวมสิทธิเกษตรกรด้วย
พร้อมกันนี้ยังได้สาธิตวิธีการตรวจวัดความชื้น และตรวจสอบคุณภาพข้าวของเกษตรกรที่จะนำมาเข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนเกษตรกรด้วย เพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อเกษตรกรมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการลดช่องโหว่ป้องกันการกระทำทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของ จ.บุรีรัมย์ซ้ำรอยปีที่ผ่านมาที่มีการทุจริตสร้างความเสียหายแก่งบประมาณของรัฐมากกว่า 44 ล้านบาท
ส่วนโรงสีข้าวที่สมัครเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 19 แห่ง แต่จนถึงขณะนี้ล่าช้ามานานร่วมเดือนแล้วยังไม่สามารถเปิดรับจำนำข้าวของเกษตรกรได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากองค์การคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม คาดว่า จ.บุรีรัมย์จะได้รับการพิจารณาอนุมัติและสามารถเปิดรับจำนำข้าวได้ก่อนสิ้นเดือนตุลาคมนี้
ด้านนายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำข้าวระดับจังหวัด จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาลในอันที่จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกของเกษตรกร ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
จากการดำเนินการตามโครงการที่ผ่านมาอาจพบปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการบ้างในบางจุด บางพื้นที่ เช่น การสวมสิทธิเกษตรกร การออกใบประทวนล่าช้า การจ่ายเงินล่าช้า หรืออาจเกิดความเข้าใจผิดในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือการปรับเพิ่ม ลดกรัมต้นข้าว หรือการปรับเพิ่ม ลดน้ำหนักข้าวเปลือก เป็นต้น
“ส่วนมาตรการในการป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวปีนี้ ได้มีการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำจุดรับจำนำทุกจุด จุดละ 2 นาย เพื่อร่วมในการดูแลตรวจสอบความผิดปกติ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย อคส. และผู้แทนเกษตรกร ซึ่งหากจุดไหนมีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำเป็นจำนวนมากก็อาจมีการขอกำลังตำรวจมาเพิ่มอีกเป็นจุดละ 5 นาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือการทุจริตซ้ำอีก” นายสุทธิศักดิ์กล่าว