xs
xsm
sm
md
lg

ชายชราฝีมือจักสานเป็นเลิศ หวังตั้งกลุ่มผลิตขายหาเงินช่วยผู้สูงอายุในชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายสงวน  ศรีสุทัศน์ อายุ 68 ปี บ้านเลขที่ 16 หมู่ 1 บ้านท่าอุดม ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - ชายสูงอายุชาวตำบลลำพานใช้เวลาว่างขณะเลี้ยงหลานเฝ้าบ้านจักสานไม้ไผ่ ได้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชุมชน สร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว หวังตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้ลูกหลานสืบสาน และช่วยเสริมอาชีพช่วงหน้าแล้ง แต่ยังขาดงบประมาณสนับสนุน

นายสงวน ศรีสุทัศน์ อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 1 บ้านท่าอุดม ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตนมีฝีมือในการจักสานไม้ไผ่เพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนและอุปกรณ์หาเลี้ยงชีพหลายอย่าง เช่น ตะกร้า ชะลอม กระติบข้าว ข้อง สุ่มจับนก-จับปลา ไซ-ลอบดักปลา สุ่มไก่ เบ็ดตกปลา เป็นต้น โดยได้รับการถ่ายทอดทักษะประสบการณ์จากรุ่นพ่อ ซึ่งสมัยก่อนก็จักสานสำหรับใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อขาย

เพราะคนทั่วไปต่างทำเป็นและทำใช้กันได้เองทุกครัวเรือน ทั้งนี้ อาชีพจักสานเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาเป็นอาชีพเสริมหารายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงหน้าแล้งนี้

นายสงวนกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งของเครื่องใช้ที่ได้จากการจักสานด้วยไม้ไผ่ไม่ค่อยมีคนทำกันแล้ว ส่วนมากจะซื้อหาตามท้องตลาดหรือจากพ่อค้าเร่ ซึ่งราคาแพงแต่อายุการใช้งานไม่คงทน ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป ทำให้รู้สึกเสียดายภูมิปัญญาไทยในด้านการจักสานที่นับวันจะสูญหายเพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจสืบสาน

นายสงวนเล่าอีกว่า เมื่ออายุมากขึ้นทำงานหนักไม่ไหว วันๆ ก็เฝ้าบ้าน ดูแลหลานไปตามประสา เวลาว่างก็มากขึ้น จึงได้รื้อฟื้นความสามารถด้านการจักสานไม่ไผ่มาจักสานเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีคุณภาพเพื่อขายให้เพื่อนบ้านหรือในชุมชนตามฤดูกาล เช่น หน้าฝนก็สานตะกร้า สำหรับหาเก็บเห็ดป่า สานไซ สุ่ม เบ็ด หรืออุปกรณ์สำหรับจับปลา ทำให้มีรายได้เสริมตลอดปี

ราคาก็ถูกกว่าที่อื่น เพียงชิ้นละ 50-100 บาทตามขนาดเล็กใหญ่และความยากง่าย แต่มีอายุใช้งานนานปีเพราะจักสานอย่างพิถีพิถัน เน้นคุณภาพ งานฝีมือจึงได้รับความนิยมจนแทบไม่มีตกค้าง และแทบจะทำไม่ทันเพราะไม่มีคนช่วย จึงคิดอยากรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการจักสาน ร่วมกันจักสานผลิตภัณฑ์ออกขายนำรายได้เข้ากองทุนผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังจะเป็นโรงเรียนให้ลูกหลานเข้ามาฝึกฝน เรียนรู้ จะได้สืบสานงานฝีมือคู่สังคมไทยก่อนที่จะสูญหายไป แต่ยังทำอะไรไม่ได้เพราะขาดงบประมาณสนับสนุน
กำลังโหลดความคิดเห็น