xs
xsm
sm
md
lg

อ่างทองเร่งเสริมพนังกั้นน้ำริมเจ้าพระยา เผยบางจุดยังไม่ได้ลงมือสร้างอ้างขาดงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - นอภ.อ่างทอง เผยทางจังหวัดกำลังเร่งเสริมพนังกั้นน้ำทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่เศรฐกิจ หลังฝนตกหนักทางภาคเหนือ และระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงต่อเนื่อง ขณะที่บางจุดยังซ่อมแซมไม่เสร็จ และยังมีบางจุดที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ทำให้เปิดเป็นจุดเสี่ยงที่น้ำจะเข้าท่วมในพื้นที่ เนื่องจากยังขาดงบประมาณ

วันนี้ (6 ก.ย.) นายสมชาย อนะวัชกุล นายอำเภอเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.เมืองอ่างทอง แบ่งการปกครองเป็นเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 14 ตำบล หลายตำบลเป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วม หรือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ซึ่งทางจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้พยายามหามาตรการป้องกันทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

“โดยตามบริเวณด้านเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้เราได้มีการเร่งเสริมความแข็งแรงพนังกั้นน้ำทั้งสองฝั่งในพื้นที่ตำบลตลาดหลวง และตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง เป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และศูนย์ราชการ หลังจากเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้พังพนังกั้นน้ำเข้าท่วมสถานที่ราชการจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยต้องเร่งทำแข่งกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกลงมาทุกวัน”

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ขณะที่จากการตรวจสอบในพื้นที่พบว่า บางจุดยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังมีบางจุดที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ทำให้เปิดเป็นจุดเสี่ยงที่น้ำจะเข้าท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง ที่ยังต้องรองบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนเรียงหินถาวรในปี 2556 ทำให้ชาวบ้านหวาดผวาว่าน้ำจะเข้าท่วมเช่นปี 2554 ที่ผ่านมา โดยระดับน้ำล่าสุดยังไม่น่าวิตก ยังอยู่ในสภาพวะปกติ แม้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

“ปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก คือ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองสาขาต่างๆ ที่ตลิ่ง และคันดินริมฝั่งทรุดตัวพังทลายในหลายตำบลในช่วงน้ำลด เช่น หมู่ 2 หมู่ 4 ตำบลย่านซื่อ หมู่ 1 ตำบลจำปาหล่อ หมู่ 3 ตำบลโพสะ หมู่ 5 ตำบลบ้านแห รวมทั้ง หมู่ 10 ตำบลบ้านอิฐ ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งอาจล่าช้าบ้างเนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่เกือบทุกวัน เครื่องจักรกลทำงานไม่ได้ นอกจากนี้ พบปัญหาใหม่คือ ตลิ่ง หรือคันดินที่อุ้มน้ำไว้มากอาจจะทรุดตัวพังทลายในหลายจุด ซึ่งก็ได้เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนประชาชนทราบ”

ด้านนายชัยพร ธรรมภักดี ชลประทานจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำท้ายเขื่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตรา 798 ลูกบากศ์เมตร/วินาที และคาดว่าจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากขณะนี้สภาพภูมิอากาศมีร่องมรสุมทำให้มีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลทำให้บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จึงมีความจำเป็นที่ต้องพร่องน้ำจากภาคเหนือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปยังพื้นที่ภาคกลาง และออกสู่ทะเล ส่วนการที่รัฐบาลทำการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ คงคำนวณสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมกับช่วงนี้ ทั้งนี้ หากไม่มีการทดสอบเขื่อนก็ต้องพร่องน้ำตามปกติอยู่แล้ว

“การพร่องน้ำดังกล่าวประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ภาคกลาง ส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำ และคลองสาขาเพิ่มสูงขึ้น โดยวันนี้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง วัดได้ 4.16 เมตร เมื่อวานวัดได้ 3.80 เมตร ระดับตลิ่งสูง 7.50 เมตร พนังเขื่อนกั้นน้ำสูง 3 เมตร ซึ่งระยะนี้กระแสน้ำมีสีแดงขุ่นบ้างแต่ไม่ควรตื่นตระหนกแม้ว่า จ.อ่างทอง จะเป็นพื้นที่รับน้ำก็ตาม”


กำลังโหลดความคิดเห็น