ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านหวั่นการขยายท่าเทียบเรือเคอรี่ สยามซีพอร์ต ระยะที่ 4 อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม วอนบริษัทควบคุมดูแลอย่างจริงจัง เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่เคียงคู่กันไปอย่างมีความสุข
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ห้องประชุม ชั้น 2 เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายวิชัย สัมพันธรัตน์ นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานการประชุมรับความคิดเห็นประชาชน และผู้ที่ส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการขยายท่าเทียบเรือ ระยะที่ 4 ของบริษัท เคอรี่ สยามซีพอร์ต จำกัด โดยมีประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ และเทศบาลเมืองศรีราชา เจ้าหน้าที่บริษัท และบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมประมาณ 500 คน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการชี้แจง และทำความเข้าใจต่อชาวบ้าน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่อยู่ในรัศมีของการขยายท่าเทียบเรือของทางบริษัทฯ เพื่อรับทราบรายละเอียดต่างๆ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางในการแก้ไขป้องกันปัญหา หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ก่อนจะนำเสนอถึงหน่วยงานที่พิจารณาอนุมัติต่อไป
ด้านนายสันต์ นาคอ่วม ผู้จัดการท่าเรือ เคอรี่ สยามซีพอร์ต กล่าวว่า ในการขยายท่าเทียบเรือครั้งนี้ โดยจะทำการขยายขึ้นไปทางด้านเหนือ (หรือทางด้านขวามือของท่าปัจจุบันเมื่อมองออกจากฝั่ง) อีก 750 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดบรรทุก 100,000 เดตเวตตัน (DWT) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะขยายยาว 250 เมตร เสร็จในปี พ.ศ.2557 ระยะที่ 2 ยาวอีก 250 เมตร และสุดท้ายอีก 250 เมตร รวมทั้งสิ้น 750 เมตร โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2559
นายฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกสมาคมประมงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การขยายท่าเทียบเรือนั้นมีทั้งผลดี และไม่ดี ซึ่งผลดีนั้นคือทำให้มีการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น สร้างความเจริญเติบโตต่อพื้นที่ และประเทศชาติ แต่ผกระทบก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน เช่น ต่อกลุ่มชาวประมงจะทำการประมงยากขึ้น ผลกระทบต่อชาวบ้านที่ใกล้เคียงโครงการ ปัญหาการจราจรที่จะแออัดขึ้น ปัญหาต่อคุณภาพน้ำและอากาศ
ปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนหวั่นวิตก โดยทางบริษัทฯ สามารถวางมาตรการ และแนวทางการป้องกันแก้ไขได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อน ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถอยู่ควบคู่กันได้ ดังนั้น ควรจะต้องวางแนวทางที่ชัดเจน
ด้านนายเสถียร เอกจรัสภิวัฒน์ ประธานชุมชนตลาดอ่าวอุดม กล่าวว่า การขยายท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นนั้นก็จะสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ แต่ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมา เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาฝุ่น ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาความเป็นอยู่ของชาวบ้า ปัญหาของชาวประมง ซึ่งปัญหาต่างๆ หากทางบริษัทฯ มีมาตรการช่วยเหลือ หรือป้องกันปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านหวั่นวิตกได้ การรวมตัวคัดค้านก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ชาวบ้านมีความกังวลก็ควรจะดำเนินการให้ ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ควบคู่กันได้ตลอดไปโดยไม่มีความขัดแย้ง
ด้านนางเนตรชนก ต๊ะปินดา ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อมารับฟังปัญหา และข้อเสนอจากชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านหวั่นปัญหาด้านความเป็นอยู่ของประชาชน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้ทางบริษัทฯ จะรับปัญหาไว้ และนำเสนอทางบริษัทฯ เพื่อวางแนวทางและมาตรการการป้องกันต่อไป โดยปัญหาต่างๆ จะต้องนำไปปฏิบัติ และดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือผลกระทบในอนาคตอย่างเด็ดขาด