xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงปฐมนิเทศศึกษาทางหลวงพิเศษสายชลบุรี-หนองคาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทางหลวง จัดสัมมนาปฐมนิเทศ การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย ชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี ระยะทางกว่า 125 กม. เพื่อเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์สายใหม่ ระหว่างตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ห้องประชุมเมืองท่า เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นายอดุลย์ เชาว์วาทิน ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 12 เป็นประธานการสัมมนาปฐมนิเทศโครงการการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 259) ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยมีข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ ประชาชนร่วมรับฟังครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

นายบุญเกื้อ จั่นบรรจง ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบายกรมทางหลวง กล่าวถึงโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางช่วงต้นจากบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปถึง จ.ปราจีนบุรี ในระยะทางกว่า 125 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูงในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายลอจิสติกส์ของประเทศ โดยเป็นเส้นทางรองรับปริมาณการคมนาคมขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแนวเส้นทางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งไปยังด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยกับประเทศกัมพูชา

เส้นทางดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทาง และขนส่งสินค้าในพื้นที่ตามแนวเส้นทางดังกล่าวมีความสะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ ลดปัญหาการจราจรติดขัด และบรรเทาปัญหาจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยก ต่างระดับหนองขาม-ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเปิดให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ในอนาคต

นายบุญเกื้อกล่าวต่อไปว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการปฐมนิเทศโครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการ นอกจากนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดโครงการ พื้นที่โครงการ ขอบเขตการศึกษาด้านต่างๆ แนวเส้นทางศึกษา และแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทาง และการออกแบบโครงการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านนงบุษบา อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ทางคณะทำงานได้ออกแบบ และวางแนวทางวางของเส้นทางดังกล่าวไว้เบื้องต้น ตามแนวทางของกรมทางหลวง ซึ่งหากมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือหน่วยงานในพื้นที่ก็จะนำไปประกอบการพิจารณา และการออกแบบเพื่อให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องประหยัดงบประมาณด้วย

การดำเนินการครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจะต้องดำเนินการติดต่ออีก 2-3 ครั้ง เช่น ประชุมกลุ่มย่อยชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ก็จะนำข้อมูล หรือข้อเสนอแนะนำไปพิจารณาประกอบการพิจารณาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น