xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ข่าวน้ำท่วมพิจิตร “ลวงโลก” ชป.ยันวันนี้น้ำน่าน-น้ำยมลด เขื่อนมีน้ำไม่ถึง 70% ส่อ “แล้งหนัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ชลประทานเมืองชาละวันเปิดหน้าโต้ข่าวน้ำท่วมพิจิตร ยัน “ท่วมแค่ในข่าว” เผยสื่อตีข่าวซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่มีน้ำท่วมแค่พื้นที่ลุ่มริมตลิ่งที่ “ต้องท่วม” แค่ 2 ตำบล จนมีถุงยังชีพยันสารพัดโครงการลงช่วย แถม อบต.รังนก จุดน้ำท่วมกลับทำโครงการขุดสระน้ำแจก บอกวันนี้ต้องดู “ภัยแล้ง” แล้ว 3 วันมานี้น้ำยมลดเป็นศอก-น้ำน่านลดเป็นเมตรเหลือครึ่งตลิ่ง 3 เขื่อนใหญ่มีน้ำไม่ถึง 70% จนต้องเริ่มสั่งทยอยกักเก็บน้ำด้วยการปิดประตูน้ำแล้ว

นายประเวศน์ ศิริศิลป์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่พิจิตรที่มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ว่า 3 วันมานี้ น้ำในแม่น้ำยมลดต่ำลงกว่าตลิ่งแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มริมตลิ่งบ้างแค่ตำบลรังนก อ.สามง่าม ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ต.บางลาย อ.บึงนาราง รวมแล้วประมาณ 5 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นทำเลที่ลุ่มต่ำจึงต้องเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก

ส่วนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่านไม่มีน้ำท่วมตรงจุดใดแล้ว เพราะรอบ 3 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำน่านได้ลดต่ำลงเกือบ 20 ซม. เหลือแค่ครึ่งตลิ่งจึงสั่งการให้ปิดประตูกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านแล้ว ส่วนลุ่มน้ำยมจะดูอีก 7 วัน ถ้าพายุพระพิรุณไม่เข้า ก็จะสั่งปิดประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำด้วยเช่นกัน เพราะเกรงจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในเดือนพฤศจิกายน 2555-เมษายน 2556

ผู้อำนวยการสำนักชลประทานพิจิตร ให้เหตุผลว่า การที่มีข้อมูลว่าน้ำท่วมนั้น เป็นแค่ “ความจริงตามข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ” แต่เรื่องจริงก็คือ น้ำท่วมเฉพาะจุดที่เป็นข่าวเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ ชาวบ้านก็ยังคงใช้ชีวิตความเป็นอยู่กันตามปกติ โดยเริ่มมีการทำนาปรังในพื้นที่ชลประทาน มีคลองส่งน้ำทั่วถึงเกือบ 3 แสนไร่

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมได้แก่แถบตำบลวังโมกข์ ตำบลหนองหลุม ตำบลกำแพงดิน ตำบลหนองโสน ตำบลเนินปอ ตำบลรังนก ตำบลไผ่รอบ ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลเนินสว่าง ตำบลดงเสือเหลือง ตำบลบางลาย ตำบลโพธิ์ไทรงาม ซึ่งล้วนอาศัยการรับน้ำจากคลองท่อทองแดง คลองวังบัว ที่ผันน้ำมาจากแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร กลุ่มพื้นที่พวกนี้ขอให้เริ่มปิดประตูน้ำและกักเก็บน้ำได้แล้ว เพราะ 3 เขื่อนใหญ่ที่ชาวพิจิตรได้พึ่งพิงเพื่อขอรับน้ำคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำไม่ถึง 70%

ซึ่งน้ำพวกนี้เวลาเกิดวิกฤตจะต้องมองภาพถึงการปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อดันน้ำทะเลหนุนแล้ว จึงจะมองถึงการปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร

“สรุปพิจิตรไม่ได้ถูกน้ำท่วมหนักหนาสาหัสอย่างที่เป็นข่าวครึกโครม แต่มีบางแห่งเท่านั้นที่ถูกน้ำท่วมจริง ความจริงก็คือ ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า 2556 จะเกิดภัยแล้งด้วยซ้ำ และที่สำคัญสิ่งที่จะตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ โรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล”

ด้านนายธีรพงศ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำยม และอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เป็นต้นฉบับข่าวน้ำท่วม วันนี้ก็มีการขึ้นหอกระจายข่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดพิจิตร โดยการผลักดันงบประมาณของ ส.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรตัวแทนของชาวพิจิตรมีโครงการจะขุดสระน้ำในไร่นาขนาด 1,260 ลบ.ม. ให้ 15 สระ แต่ราษฎรต้องสมทบ 2,500 บาท

ปรากฏว่า ชาวนาตำบลรังนกที่เห็นความจริงว่า น้ำปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วมากมายมหาศาลต่างก็มาลงชื่อแสดงเจตนาจะขอขุดสระน้ำในไร่นา เนื่องจากรู้อยู่แก่ใจว่าปีนี้แล้งแน่ แต่ที่เป็นข่าวว่าน้ำท่วมนั้นก็ชอบใจ ได้ถุงยังชีพของกินของใช้เป็นการประหยัดรายจ่ายได้มาจากข่าวน้ำท่วมหนักแท้ๆ

ในส่วนของธารน้ำใจถึงแม้ว่าขณะนี้น้ำจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ล่าสุด พ.ต.ท.สมศักดิ์ โพธิ์เย็น สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวงเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยตำรวจทางหลวง และหน่วยกู้ภัยทางหลวง ได้นำสิ่งของซึ่งเป็นถุงยังชีพ ประกอบด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นนำลงเรือท้องแบนไปมอบให้แก่ชาวบ้านเนินยุ้ง หมู่ 3 ตำบลรังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมที่ถูกน้ำท่วมล้อมรอบหมู่บ้าน และน้ำท่วมถนนทางเข้า-ออก หมู่บ้านสูงกว่า 1 เมตร มานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้ต้องถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวบ้านเกือบ 100 ครัวเรือนจะเข้า-ออกหมู่บ้าน ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ แต่ก็เป็นวิถีชีวิตที่พบเจอเป็นประจำมานานกว่า 2 ชั่วอายุคนแล้ว และชาวบ้านก็สามารถปรับตัวจากการเป็นชาวนามาเป็นชาวประมงจับกบ จับปลา จับงูขายเป็นรายได้เสริม แถมยังทำปลาร้าเป็นสินค้า OTOP ออกขายจนโด่งดั่งทั้งใน และต่างประเทศอีกด้วย

และเส้นทางหลวงโดยเฉพาะหมายเลข 117 และทางหลวงหมายเลข 11 ที่มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือนั้นยังสามารถใช้เดินทางได้ตามปกติ ไม่ถูกน้ำท่วมแต่อย่างใด



กำลังโหลดความคิดเห็น