กาฬสินธุ์ - ปัญหาคัดค้านตั้ง “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” ยุติ ผู้แทนประชาคมเมืองน้ำดำนับพันร่วมลงบันทึกสัตยาบรรณสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมผลักดันเข้าสภาภายใน 2 เดือน มั่นใจสร้างอนาคตคนกาฬสินธุ์ให้มีความรู้ก้าวทันการพัฒนาประเทศ
จากกรณีปัญหากลุ่มคนคัดค้านการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้หาทางออกของปัญหาด้วยการจัดตั้งประชาคมและดำเนินการทำความเข้าใจประชาชน จนพบว่ามีมือที่สามพยายามปลุกปั่นไม่ให้มีการรวมมหาวิทยาลัย ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่หอประชุม 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายปรัชญา จินต์จันทร์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาฯ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายนิพนธ์ ศรีธเรศ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 นายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 4 พรรคเพื่อไทย นายสุดใจ จันทะมุท ประธานเครือข่ายประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ นายบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง พร้อมผู้แทนหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอทั่วทั้ง 18 อำเภอกว่า 1 พันคน ร่วมทำบันทึกสัตยาบรรณร่วมกันว่าด้วยการแสดงเจตนารมณ์และความประสงค์ชาวกาฬสินธุ์ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
โดยจะเป็นการรวมมหาวิทยาลัย ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ซึ่งอดีตมีปัญหากลุ่มมือที่สามในพื้นที่เข้ามาปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าการก่อตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จะมีการนำไปก่อสร้างที่ใหม่
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ข้อตกลงทั้งสองฝ่าย การรวมมหาวิทยาลัยราภัฏกาฬสินธุ์กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จะไม่มีการยุบหรือย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ไปสถานที่แห่งใหม่ โดยจะให้มีการตั้งตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นกรรมาธิการทุกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะตั้งขึ้นประกอบการพิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และให้จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาหามาตรการเยียวยาบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ที่ถูกคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้าง และที่ถูกคำสั่งสอบสวนจากการดำเนินกิจกรรมคัดค้านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
โดยให้ดำเนินการหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกได้ทำขึ้น 6 ฉบับที่ได้ทำการลงบันทึก โดยมีสักขีพยานเป็นตัวแทนองค์กรเครือข่ายประชาชนกาฬสินธุ์
ด้านนางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาฯ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นับจากนี้ก็จะเป็นการขับเคลื่อนโดย ส.ส.กาฬสินธุ์ทั้ง 6 คนจะได้ร่วมกันนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมสภา ซึ่งยืนยันว่าการก่อตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เยาวชนและคนกาฬสินธุ์ เพราะจะทำให้เกิดศูนย์กลางการเรียนรู้
โดยนักเรียน นักศึกษาไม่ต้องเดินทางไปเรียนยังจังหวัดอื่น แต่จะสามารถสร้างความรู้ได้ในพื้นที่กาฬสินธุ์ อีกทั้งยังจะมีการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาที่จะเป็นของคนท้องถิ่น ซึ่งจะสร้างประโยชน์อย่างสูงสุด