xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบชาวนาเชียงใหม่ระดมพลต้านล้มจำนำข้าว จี้คณาจารย์ “นิด้า” ถอนเรื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มชาวนาเชียงใหม่ระดมพลบุกศาลากลางคัดค้านคณาจารย์นิด้ายื่นศาล รธน.พิจารณาล้มโครงการรับจำนำข้าว เผยข้องใจทำไมถึงค้านทั้งที่เป็นโครงการดี-ชาวนาได้ประโยชน์ ชี้หากไม่ทำจะส่งผลกระทบรุนแรง แต่ถ้าจะเลิกจริงต้องหาวิธีใหม่ที่เกษตรกรได้ประโยชน์จริงมาใช้ พร้อมเตรียมเรียกร้องชาวนาออกมาแสดงพลังหากศาล รธน.รับเรื่อง

วันนี้ (2 ต.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มชาวนาจากสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูนจำนวนประมาณ 200 คน นำโดยนายสมาน ทัดเที่ยง เดินทางมาชุมนุมเพื่อคัดค้านกรณีที่คณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐบาลยุติหรือชะลอโครงการรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา

การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวนาเป็นอย่างมาก โดยช่วยให้ชาวนาได้รับรายได้ที่เป็นธรรมและสามารถนำรายได้ไปชำระหนี้สินที่มีอยู่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่เข้าใจว่าทำไมคณาจารย์จากนิด้าจึงคัดค้านนโยบายดังกล่าว

อีกทั้งหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจรับคำร้องของคณาจารย์นิด้าและตัดสินให้ชะลอหรือยุติการรับจำนำข้าวในปีนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวนาทั้งประเทศที่กำลังทำการเพาะปลูก และเตรียมที่จะนำผลผลิตเข้าโครงการรับจำนำตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปักหลักอยู่ที่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้กล่าวปราศรัยโจมตีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรับจำนำข้างของคณาจารย์นิด้า พร้อมทั้งแสดงแผ่นป้ายข้อความต่อต้านการกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นป้ายโจมตีที่ระบุชื่อนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนมายังบริเวณบันไดอาคารอำนวยการ พร้อมทั้งส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มผู้ชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้องรวม 4 ข้อ ผ่านหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. ขอให้รัฐบาลดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี พ.ศ. 2555 ต่อไป 2. ขอให้คณาจารย์นิด้าหยุดการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การรับจำนำข้าวของรัฐบาลในปีนี้เสร็จสิ้นเสียก่อน

3. หลังเสร็จสิ้นการรับจำนำแล้ว ให้รัฐบาลเชิญกลุ่มคณาจารย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยหารือกันเพื่อวางแผนการรับจำนำข้าวใหม่ โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความเป็นธรรม และ 4. เสนอให้มีตัวแทนเกษตรกรในแต่ละภาคเข้าร่วมในการพูดคุยดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันตัวแทนเกษตรกรไม่เคยได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยจะรอฟังคำตอบจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้นายอดิศร์และคณะที่ยื่นเรื่องคัดค้านการรับจำนำข้าวหาวิธีการใหม่ที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์เทียบเท่ากับโครงการจำนำข้าวมาใช้แทนหากต้องการให้ยกเลิกการรับจำนำ พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มชาวนาออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา รวมทั้งให้ชุมนุมเคลื่อนไหวประท้วงนายอดิศร์และกลุ่มคณาจารย์ที่คัดค้านเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ในการชุมนุมดังกล่าว กลุ่มชาวนายังได้สอบถามเพื่อขอความชัดเจนจากทาง จ.เชียงใหม่ถึงปัญหาในกระบวนการรับจำนำ เนื่องจากกลุ่มชาวนาเห็นว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยผลผลิตของ จ.เชียงใหม่นั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะหลายพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่สามารถผลิตข้าวได้เกิน 1,000 กก.ต่อไร่ อีกทั้งจุดรับจำนำที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่ทั่วถึงและมีปัญหาในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดำเนินการ

นางนิยดา หมื่นอนันต์ การค้าภายในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ชี้แจงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การกำหนดตัวเลขค่าเฉลี่ยผลผลิตนั้นเป็นการคิดจากยอดรวมของทั้งจังหวัด ซึ่งอาจจะมีบางพื้นที่ที่ผลิตได้น้อยจึงทำให้ค่าเฉลี่ยไม่สูง อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้มากก็สามารถนำข้าวเข้าโครงการรับจำนำได้ทั้งหมด เพียงแต่ส่วนที่เกินจากค่าเฉลี่ยจะต้องแสดงสิทธิเพื่อยืนยันว่าเป็นข้าวที่ตนเป็นผู้ผลิตจริงๆ เท่านั้น

ส่วนกรณีจุดรับจำนำนั้น นางนิยดาชี้แจงว่า ในปีที่ผ่านมามีการเปิดจุดรับจำนำแล้วถึง 19 จุด ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่ดำเนินการรับจำนำมา ส่วนในปีนี้ได้มีการอนุมัติจุดรับซื้อเพิ่มเติมแล้ว ขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารต่อไป

สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้ใช้สหกรณ์หรือเครือข่ายเกษตรเป็นแหล่งรวบรวมหรือจุดรับซื้อนั้นจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานที่ประกอบด้วย ขณะที่ในเรื่องการจัดเจ้าหน้าที่เข้าประจำที่จุดรับจำนำนั้น ได้เพิ่มสัดส่วนของตัวแทนเกษตรกรเป็นจุดละ 3 คน รวมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นายเข้าประจำการ ณ จุดรับจำนำ

ดังนั้น ขอให้เกษตรกรดูแลในเรื่องการส่งตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ ณ จุดรับจำนำ รวมทั้งติดตามดูการรับจำนำให้ถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเกษตรกรเองด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น