xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการนิด้าร้องศาลรัฐธรรมนูญเบรกจำนำข้าว เหตุทำระบบการค้าพัง และรัฐเจ๊งไปแล้ว 9.8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการนิด้าสุดทน ล่ารายชื่อกว่า 100 รายร้องศาลรัฐธรรมนูญล้มโครงการรับจำนำข้าว ชี้ขัดมาตรา 84 วรรค 1 ฐานบิดเบือนกลไกตลาด กีดกันระบบการค้าปกติ เตรียมรุกต่อหาทุกช่องทางสกัดการเปิดรับจำนำอีก เผยข้อมูล ธ.ก.ส. รัฐเจ๊งแล้ว 9.8 หมื่นล้านบาทจากการจำนำรอบแรก

นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการไต่สวนให้ยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินโครงการเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (1) ที่ว่าถึงการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจระบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค

โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว ได้แก่ 1. กลไกตลาดในการแยกแยะคุณภาพข้าวล้มเหลวเนื่องจากคุณภาพข้าวลดลงเพราะเป็นการรับซื้อข้าวแบบคละเกรด 2. เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการผลิตข้าวคุณภาพดีโดยเน้นการปลูกข้าวที่มีระยะเวลาการเก็บเร็วได้ผลผลิตสูง 3. คุณภาพข้าวลดลงเนื่องจากการเก็บสต๊อกข้าวจำนวนมาก และไม่มีการระบายออกสู่ตลาด 4. การกำหนดราคาจำนำที่สูงเกินราคาตลาดเป็นการส่งสัญญาณทางราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกินศักยภาพนำไปสู่การบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ลดลง 5. โครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยที่พัฒนามาเป็นอย่างดีถูกทำลายลง 6. การประกาศราคาข้าวที่สูงขึ้นทำให้ประเทศไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าข้าวโลกปัจจุบัน ราคาข้าวที่สูงขึ้นทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกข้าวได้ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวของประเทศลดลง 46% (จาก 7.4 ล้านตัน ลดลงเหลือ 3.9 ล้านตัน) และ 7. การระบายข้าวของรัฐ ต้องทำโดยการขายระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในราคาขาดทุนอย่างมากซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เงินภาษีประชาชนทั้งประเทศเพื่อให้ผู้บริโภคในต่างประเทศซื้อข้าวไทยในราคาถูก

“เราได้มีการลงรายชื่อของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว รวม 127 คน เป็นนักวิชาการของนิด้ากว่า 50 คน อาจารย์ของ ม.ธรรมศาสตร์กว่า 20 คน รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ประชาชน และยังมีชาวนาบางส่วนที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวในอนาคตสูงมากขึ้น โดยหลังจากนี้หากมีช่องทางอื่นๆ ก็จะรวบรวมรายชื่อไปฟ้องร้องอีก โดยการยื่นครั้งนี้ไม่ต้องการถึงขั้นล้มโครงการแต่ต้องการให้มีการปรับเพดานการรับจำนำข้าวที่เหมาะสมในราคาตลาดไม่เกิน 9 พัน-1 หมื่นบาทต่อตัน และต้องจำกัดครอบครัวละไม่เกิน 25 ตันเท่านั้น เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายแก่ประเทศ” นายอดิศร์กล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ต้นทุนในการใช้รับจำนำรวม 2.9 แสนล้านบาท 90% ของมูลค่าทั้งหมดเป็นต้นทุนในการซื้อข้าว อีก 10% เป็นค่าบริหารจัดการโครงการ ขณะที่การคาดการณ์รายรับที่จะได้จากโครงการ 1.93 แสนล้านบาท ทำให้โครงการสร้างความเสียหายเบื้องต้น 9.8 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น