ประจวบคีรีขันธ์ - ฮือฮาหลังเต่ากระอย่างน้อย 4 แม่โผล่ขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดเกาะทะลุ บางสะพานน้อย ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.รวม 3 เดือน 1,609 ฟอง ล่าสุด ทั้งรีสอร์ตเกาะทะลุ จนท.ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือภาคที่ 3 ช่วยกันอนุบาลดูแลใกล้ชิด สร้างโรงเรือนอนุบาลเพิ่มเติม ล่าสุด ส่งผลลูกเต่ากระปีนี้ฟักออกมาแล้ว 3 รัง รวม 339 ตัว และจะทยอยฟักออกมาอีก ด้านส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมที่แม่เต่ากระหลังขึ้นวางไข่ล่าสุด เสร็จแล้วปล่อยกลับสู่ท้องทะเลเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของเต่ากระสัตว์ทะเลหายาก ชี้จุดวางไข่แนวชายหาดเกาะทะลุจุดสำคัญที่ทั้งเอกชน ชุมชนต้องช่วยกันอนุรักษ์ต่อไป
วันนี้ (13 ก.ย.) นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ ผู้บริหารบ้านมะพร้าวเกาะทะลุ-รีสอร์ต อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงเรือนเพาะเลี้ยงอนุบาลเต่ากระที่ริมชายหาดเกาะทะลุ พร้อมเปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนที่ผ่านมา มีแม่เต่ากระขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดเกาะทะลุทางด้านทิศใต้แล้วถึง 12 รัง จำนวน 1,609 ฟอง ซึ่งทางเกาะทะลุได้รับความร่วมมือจาก พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษ ทหารเรือ จัดส่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือภาคที่ 3 มาให้คำแนะนำในการดูแลอนุบาลลูกเต่ากระ ตั้งแต่หลังจากเก็บไข่ที่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่จนนำมาใส่หลุมเพาะฟักที่ปลอดภัยที่ทางรีสอร์ตได้เตรีมไว้ รวมไปถึงขั้นตอนดูแลให้อาหาร การเปลี่ยนน้ำ
“การดำเนินการดังกล่าวในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยทางรีสอร์ตได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน นักท่องเที่ยว ฯลฯ ได้ปล่อยลูกเต่ากระคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 8 เดือน-1 ปีไปแล้วกว่า 200 ตัวในโอกาสต่างๆ ไปแล้ว”
นายเผ่าพิพัธ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ปริมาณไข่เต่าที่มีมากเพิ่มขึ้น ทำให้ทางรีสอร์ตได้มีการขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นถึงอีก 10 บ่อ เพื่ออนุบาลลูกเต่าที่ฟักออกมาอย่างต่อเนื่อง 3 วันที่ผ่านมา มีไข่เต่าที่ฟักออกมาเป็นตัวแล้วถึง 3 รัง รวม 339 ตัว จากจำนวนแม่เต่ากระ 4 ตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเลี้ยงในภาชนะในโรงเรือน
ส่วนลูกเต่าชุดเก่าที่มีอายุระหว่าง 8เดือน-1 ปี เหลือยู่จำนวน 26 ตัว ซึ่งมีการดูแลอย่างดีอยู่ในบ่อของรีสอร์ตที่เตรียมไว้ เพื่อศึกษาดูการเจริญเติบโตของลูกเต่ากระชุดใหม่ นับจากนี้ไปไข่เต่ากระจะทยอยฟักออกมาเป็นตัวเรื่อยๆ ซึ่งทางตนเองได้เตรียมพร้อมโรงเรือนสำหรับเพาะเลี้ยงอนุบาลชุดใหม่ไว้รองรับ
“ทางรีสอร์ต และกองทัพเรือภาคที่ 3 ที่มาดูแลได้มีการจดบันทึกข้อมูลของลูกเต่ากระเป็นระยะ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ทีสนใจ และหน่วยงานต่างๆ ที่มาดูการอนุบาลลุกเต่ากระ ขณะนี้ทางเราสามารถคำนวณวันที่ขาเต่าจะเพาะฟักแตกออกมาเป็นตัวของแต่ละรัง ซึ่งคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3-5 วันอย่างน้อย และมีอัตราปริมาณการรอดมากกว่าปีที่ผ่านมา ตรงนี้อาจเป็นผลมาจากการแนะนำของนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงเท่านั้น ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันยังได้ให้ความสนใจเดินทางมาทดลองติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ที่แม่เต่ากระหลังขึ้นมาวางไข่”
นายเผ่าพิพัธ มองว่า การท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต้องเดินควบคู่กันไป สิ่งที่ทางรีสอร์ตดำเนินการอยู่นั้นก็เพื่อร่วมกันอนุรักษ์เต่ากระสัตว์ทะเลหายาก ที่ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันนี้เราควรที่จะดีใจด้วยว่า ชายทะเลเกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย กลายเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ากระอีกจุดหนึ่งที่สำคัญที่ทั้งชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่โครงการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน อ.บางสะพาน ที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ลูกเต่ากระในชุดใหม่ที่มีไข่มากถึง 1,609 ฟอง และหากฟักมาเป็นตัวทั้งหมด และมีการเลี้ยงดูอนุบาลจนมีการเจริญเติบโตที่แข็งแรง และครบกำหนดทางรีสอร์ต และกองทัพเรือก็จะปล่อยทยอยคืยสู่ธรรมชาติท้องทะเลที่ชายหาดเกาะทะลุ ต่อไปเพื่อให้เต่ากระเหล่านี้ได้กลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมง ชำนาญการพิเศษ สัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า การติดตั้งสัญญาณดาวเทียมบนเต่ากระที่ขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดเกาะทะลุครั้งนี้เพื่อต้องการทราบเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นว่า หลังจากเต่ากระขึ้นมาวางไข่แล้วจะเคลื่อนที่ไปยังจุดใดบ้าง หรือจะกลับขึ้นมาวางไข่อีกหรือไม่อย่างไร
สำหรับเกาะทะลุจุดนี้ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ากระ และมีการอนุรักษ์แหล่งวางไข่โดยที่ทั้งเอกชน กองทัพเรือ และชุมชนได้มีส่วนร่วมถือเป็นแนวคิดที่ดี เราต้องยกระดับการคุ้มครองการอนุรักษ์เต่าสัตว์ทะเลหายากไปสู่ระดับประเทศได้ โดยความร่วมมือของเครือข่ายนักอนุรักษ์ในระหว่างภูมิภาคของประเทศต่างๆ ต่อไป
“อย่างไรก็ตาม การอนุบาลเต่ากระ ซึ่งหากจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาตินั้นอย่างน้อยต้องมีอายุประมาณ 1 ปีเต็ม ซึ่งในส่วนนี้ผมก็ให้ข้อมูลทางวิชาการแก่ทางเกาะทะลุรีสอร์ตเขาไปด้วย บางครั้งแม่เต่าหลังขึ้นมาวางไข่เสร็จแล้ว ก็จะกลับลงไปว่ายวนเวียนอยู่ห่างจากจุดวางไข่ประมาณ 5-6 กม. ซึ่งเต่ากระตัวที่เราติดสัญญาณ (ทางรีสอร์ตตั้งชื่อว่าแม่เพียง) ก็น่าจะอาศัยว่ายหากินอยู่บริเวณเกาะทะลุ หรืออาจจะกลับขึ้นมาวางไข่อีกก็เป็นได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รีสอร์ตเองเขาก็ติดตามอยู่ เราก็จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารถึงกัน โดยหากมีการกลับขึ้นมาวางไข่อีกเขาก็จะแจ้งข้อมูลมาให้เรารับทราบ”
โดยสัญญาณดาวเทียมอาก๊อสดังกล่าวเป็นของฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อเต่ากระโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาสัญญาณจะถูกส่งไปยังประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้น ก็จะถูกส่งกลับมาที่เราทันที ส่วนงบประมาณเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมมูลค่าตัวละกว่า 1 แสนบาท ซึ่งทางเราได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เราจะมีการติดสัญญาณเต่ากระเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่าตัวที่ติดไปแล้วสัญญาณจะได้ผลหรือไม่ หรือมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีเราก็อาจทำการติดตั้งสัญญาณในเตากระที่ขึ้นมาวางไข่ที่เกาะทะลุต่อไป เพื่อแนวทางการอนุรักษ์เต่าสัตว์ทะเลหายากอย่างยั่งยืน รวมทั้งแหล่งว่างไข่จุดสำคัญ และการเคลื่อนที่ของเต่ากระต่อไป