“บ้านสันกลาง หมู่ 9 ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่” เป็นชุมชนเล็ก ๆ หลังพระธาตุช่อแฮ ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ชุมชนแห่งนี้ถูกกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก เมื่อผู้นำชุมชน ตั้งแต่กำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน -กรรมการหมู่บ้าน สั่งตัดมาตรวัดน้ำประปาของลูกบ้าน ที่ไม่ยอมจ่ายเงินค่าทำบุญให้วัดในชุมชน จำนวน 2,000 บาท/หลังคาเรือน พร้อมกับมีคำสั่งห้ามตั้งวงสนทนากันเกิน 5 คนในชุมชน ป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำชุมชน
ทำนองเดียวกับประกาศคณะปฏิวัติ ที่มีการนำมาใช้ทุกครั้งหลังการปฏิวัติรัฐประหาร!!
บ้านสันกลาง หมู่ 9 แห่งนี้เป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำแม่สาย อดีตเคยเป็นพื้นที่พักช้างกว่า 200 เชือกของ เจ้าวงศ์ เครือญาติเจ้าหลวงเมืองแพร่ ในยุคที่มีการรับจ้างทำไม้ให้แก่บริษัท บอมเบย์เบอร์ม่าฯ และอีสท์เอเชียติก กระทั่งในยุคพรรคคอมมิวนิสต์ “บ้านสันกลาง” กลายเป็นชุมชนที่ทำนาข้าว ส่งกำลังบำรุงให้แก่เครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปักหลักในเมืองน่าน ก่อนที่ฝ่ายทหารจะเข้ามาตั้งค่ายสกัดกั้น
เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามแนวคิด ก็ได้มีการมอบที่ดินค่ายทหารให้ธนารักษ์ดูแล ขณะที่ชาวบ้าน ก็ใช้เป็นที่ทำกินมาโดยตลอด จนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (โฉนดชุมชน) เพื่อให้ชาวบ้านทำกินในผืนดินเดิมอย่างถูกต้อง โดยการเสียค่าเช่าให้กับธนารักษ์ พร้อมๆ กับแยกชุมชนเป็น 2 หมู่บ้านคือ บ้านสันกลาง - บ้านเจริญทอง มีลำน้ำแม่สาย เป็นแนวเขต แต่อยู่หมู่เดียวกัน (หมู่ 9)
และ มีการตั้งกฎควบคุมคนในชุมชน 10 ข้อ ให้ทุกคนลงนามไว้เป็นหลักฐาน เช่น คนค้า-เสพยาเสพติด หากถูกจับได้ จะถูกตัดสิทธิ์ช่วยเหลือทุกอย่างในหมู่บ้านและส่งดำเนินคดี ,ห้ามส่งเสียงดัง , ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า-ระเบิดจับปลา,ห้ามทะเลาะวิวาท ฯลฯ โดยข้อสุดท้าย ระบุไว้ว่า “ผู้ใดไม่ร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน มีโทษจะถูกงดความช่วยเหลือในด้าน สาธารณูปโภคของหมู่บ้าน” ซึ่งผู้นำชุมชน ใช้เป็นฐานในการสั่งตัดมาตรวัดน้ำของลูกบ้าน ที่ไม่ยอมจ่ายเงินทำบุญให้วัด !!
จนทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว ทำเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจังหวัดแพร่ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่
สงัด ตากลม อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 171/1 หมู่ 9 ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ บอกว่า คนในชุมชนมีปัญหาถูกผู้นำชุมชนบีบบังคับมาตลอด ล่าสุดที่เจอกับตัว คือ หาเงินมาให้ค่าทำบุญที่วัดสันกลาง ตามที่กรรมการฯกำหนด 2,000 บาท/ครัวเรือน ไม่ได้ จนถูกตัดมาตรวัดน้ำ ทั้งที่ในบ้านมีหลานเกิดใหม่ ต้องใช้น้ำสะอาดเป็นประจำ
“ขอร้องยังไง ก็ไม่ยอม ในที่สุดก็ถูกตัดน้ำ ระหว่างนั้นคนข้างบ้าน สงสารต่อสายยางปล่อยน้ำให้ใช้ ก็ถูกขู่ว่า ถ้าต่อน้ำให้จะปรับคนต่อน้ำ ถือว่า ขโมยน้ำตามระเบียบ คือ เอายอดจ่ายค่าน้ำ 3 เดือนรวมกัน คูณด้วย 20 คือ 60 เท่าเป็นค่าปรับ ทำให้คนข้างบ้านไม่กล้าช่วยอีก”
สงัด บอกอีกว่า ด้วยความจำเป็น ทำให้ตนต้องเอารถจักรยานยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์ เอาเงินมาจ่ายค่าทำบุญ แต่ปรากฏว่า กรรมการเรียกเก็บถึง 4,000 บาท บอกเป็นค่าทำบุญวัด 2,000 บาท ค่าปรับที่ทำผิดกฎหมู่บ้านอีก 2,000 บาท เมื่อนำเงินไปจ่ายกรรมการหมู่บ้านก็มาติดตั้งมาตรวัดน้ำ และเปิดน้ำให้ใช้
“ที่ผ่านมาผมไม่เคยติดค้างค่าน้ำแม้แต่บาทเดียว” สงัด กล่าวย้ำ
สงัด กล่าวอีกว่า คนชุมชนถูกผู้นำบีบบังคับมาตลอด อย่างการออกโฉนดชุมชน ด้วยความที่ชาวบ้านอยากได้ความมั่นคงในที่ดินทำกิน - ที่อยู่อาศัย ก็ต้องยอมจ่ายเมื่อมีการเรียกเก็บเงินทุกครั้ง และในหมู่บ้านมีการประชุมบ่อยครั้ง ถ้าไม่เข้าประชุมก็เสียค่าปรับ เวลาประชุมชาวบ้านต้องทำตามความต้องการของกรรมการหมู่บ้าน ถ้าใครไม่ให้ความร่วมมือก็จะถูกเพ่งเล็ง แม้การโหวตเสียงประชาคมเรื่องใดก็ตามชาวบ้านจะต้องยกมือตามความต้องการของกรรมการหมู่บ้าน
จารุณี ศรีสันต์ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 196/14 หมู่ 9 ต.ป่าแดง อ.เมือง จ.แพร่ เป็นผู้หนึ่งที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าทำบุญวัด 2,000 บาท และถูกตัดน้ำ ยืนยันว่า ไม่เคยติดค่าน้ำเลยแม้แต่งวดเดียว และการทำบุญได้ทยอยจ่ายให้ไปก่อนแล้ว 500 บาท แต่กรรมการหมู่บ้านไม่ยอม เอาเงิน 500 มาคืนแล้วตัดมิเตอร์น้ำไป
“ร่วม 2 อาทิตย์แล้ว ที่ในบ้านไม่มีน้ำใช้” จารุณี บอก ทำให้เธอสุดจะทน ต้องทำหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองฯ-ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนวิพากษ์วิจารณ์กันตามร้านค้าอย่างมาก ทำให้กรรมการหมู่บ้าน มีคำสั่งซ้ำออกมาอีก ว่า ห้ามนั่งสุมหัวกันเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ถ้าไม่ฟังจะใช้มาตรการของหมู่บ้านมาลงโทษ เป็นการดับปัญหาการวิพากษ์โจมตีผู้นำชุมชน
และ เมื่อเกิดปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าวขึ้น คฑาวุธ กุนันต์ กำนันตำบลป่าแดง ,นายวินัยหรือ พิสิทธิ์ ตาจา ส.อบต.หมู่ 9 ในฐานะเลขานุการที่ประชุมนิมนต์พระอธิการนิรุตต์ ธรรมะวังโส เจ้าอาวาสวัดสันกลาง ,นางอัศนี เรือนคำ ส.อบต.หมู่ 9 และกรรมการหมู่บ้านที่ทำการตัดน้ำชาวบ้านเข้าร่วมประชุมเมื่อ 23 ส.ค.55 โดยมีสมาชิกในชุมชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียงเพราะถ้าไม่เข้าจะผิดระเบียบ และต้องเสียค่าปรับ 200 บาท
การประชุมครั้งนี้มีการขอมติให้ชาวบ้านยกมือสนับสนุนการตัดน้ำ ว่า เป็นความต้องการของประชาคม โดยกำนันตำบลป่าแดง ประธานในที่ประชุมไม่ถามผู้ที่มีปัญหาจ่ายไม่ได้ เพราะเหตุใดแก้ปัญหาอย่างไร แล้วสั่งปิดประชุม ก่อนใช้มติดังกล่าว ไปเป็นหลักฐานในการตอบคำถามคณะกรรมการสอบสวนที่นายเกษม วัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ตั้งขึ้นมีวิชิต บุญกังวาน นายอำเภอเมืองแพร่และปลัดประจำตำบลป่าแดงทำหน้าที่สอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันเริ่มวันที่ 23 ส.ค.55
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านแตกออกเป็นฝักฝ่าย 27 ส.ค.55 ชาวบ้าน 5 คน เป็นตัวแทน 40 หลังคาเรือนเข้าพบ วิทยา กันกา นายก อบต.ป่าแดง เพื่อขอให้ อบต.ป่าแดง ช่วยบริหารจัดการน้ำประปาใหม่ ซึ่ง อบต.รับปาก ว่า จะให้การช่วยเหลือแต่ต้องขอเวลาในการสอบหาข้อเท็จจริงก่อน ว่าการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาเป็นธรรมหรือไม่
ด้าน พิสิทธิ์ ตาจา ส.อบต.หมู่ 9 กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คนที่ถูกตัดน้ำเป็นผู้ที่ได้ดำเนินการตามมติประชาคม เมื่อละเมิดมติก็ทำให้ผิดกฎระเบียบข้อหมู่บ้าน ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านจะต้องลงชื่อในหนังสือยินยอมเข้าเป็นสมาชิกของหมู่บ้าน ยอมรับกฎของหมู่บ้านทุกข้อ
ขณะที่ อำนวย พลหล้า ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล จ.แพร่ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ชาวบ้านหรือผู้นำที่ผ่านการพัฒนาแบบเก่ามานาน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงนึกว่า ผู้นำคิดเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ถ้าใครไม่ทำหรือฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคการพัฒนา ถ้ายังไม่สามารถแก้พฤติกรรมดังกล่าวได้ การเดินเข้าสู่จังหวัดจัดการตนเองจะทำให้เกิดวิกฤตขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน
“บ้านสันกลาง หมู่ 9 เป็นบ้านที่น่าสนใจ ที่มีประชาชนฐานรากลุกขึ้นมาต่อสู้กับกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม สังคมควรเอาใจช่วยชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาถอดสลักเผด็จการออกไปจากใจของผู้นำชุมชน”
พระยงยุทธ ทีปโก เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ว่า มีพระสงฆ์จำนวนมากยกกรณีบ้านสันกลาง ออกมาพูดถึงการดำรงอยู่ของศาสนาและการเผยแพร่ศาสนาพุทธในอนาคต พระต้องแสดงจุดยืนชัดเจนในการดำรงชีวิต ต้องไม่เบียดเบียนและออกมาสู้เพื่อความเป็นธรรม กรณีวัดสันกลางคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องเข้าไปให้คำแนะนำพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดสันกลางเพื่อปลดทุกข์ครั้งนี้
ส่วนการแก้ไขคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผู้นำจะทำอย่างไร ผู้นำที่กล่าวถึงในเหตุการณ์บ้านสันกลาง มีฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ผู้ว่าฯไปถึงผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายท้องถิ่น คือ อบต.ป่าแดง ผู้นำชาวบ้านที่ต่อเชื่อมกับ พอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)บุคคลเหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการเบียดเบียนชาวบ้าน
“บทเรียนครั้งนี้จะสอนผู้นำเหล่านั้นเอง”