เชียงราย - เจ้าหน้าที่ตามรวบแก๊งขายปุ๋ยปลอมยกชุดได้คาหนังคาเขา ขณะขนปุ๋ย “พลังเพชร” เร่ขายชาวบ้านที่เชียงราย พบผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานร่วมมือกับเครือข่ายเมืองน่าน เผยมีชาวบ้านตกเป็นเหยื่อแล้วกว่า 70 ราย ขายปุ๋ยปลอมไปแล้วกว่า 300 กระสอบ เตรียมดำเนินคดีทั้งค้าปุ๋ยเถื่อน-ขายปุ๋ยปลอม พร้อมข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” ซ้ำ
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ สภ.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ โทปุญญานนท์ ผบก.ภ.เชียงราย, พ.ต.อ.สงวน โรงสะอาด รอง ผบก., พ.ต.ท.นิธิกร เดชบุญ สารวัตรใหญ่ สภ.บ้านแซว ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาคดีปุ๋ยปลอมหลอกขายชาวบ้าน โดยมีของกลางเป็นปุ๋ยเคมีชนิดเม็ดบรรจุในกระสอบสีขาว-ชมพู ตราพลังเพชร สูตร 15-15-15 กระสอบละ 50 กก.จำนวนกว่า 300 กระสอบ รถยนต์กระบะยี่ห้อเชฟโรเลต สีดำ หมายเลขทะเบียน บต 7607 สกลนคร 1 คัน รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน บต 4766 หนองคาย 1 คัน
ส่วนผู้ต้องหาประกอบด้วย นางวาสนา อินทะริง อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69/1 ม.9 ต.ดงบัง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ, นายกมล อินทะริง อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 ม.9 ต.ดงบัง, นายธานินทร์ เกตุทองมา อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 131 ม.3 ต.ดงบัง, นายประสาท พลกันยา อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 หมู่ 4 ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม, นายชานนท์ วงศ์คง อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ 9 ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และนายอภิชัย ชัยเจริญ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 121 ม.6 ต.ส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน
โดยการจับกุมมีขึ้นเมื่อ พ.ต.ท.นิธิกรได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีผู้นำปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพไปเร่จำหน่ายในพื้นที่ ต.บ้านแซว และ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กรมการวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรที่สูงเชียงราย และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเชียงแสน นำกำลังไปตรวจสอบ พบมีกลุ่มผู้ค้านำปุ๋ยบรรจุถุง สูตร 15-15-15 ไปเร่จำหน่ายบริเวณพื้นที่หมู่บ้านบ้านป่าคา บ้านปงของ และบ้านแซว ที่เกิดเหตุพบมีการซื้อขายกันอยู่ และชาวบ้านบางส่วนก็กำลังจะจ่ายเงินให้กลุ่มผู้ขายดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบขอดูใบอนุญาตการขายปุ๋ย ปรากฏว่าทั้งหมดไม่มีมาแสดง เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมคนทั้งหมดเอาไว้ และเมื่อนักวิชาการเกษตร ตรวจดูคุณภาพปุ๋ยปรากฏว่าเป็นของปลอม โดยไม่มีคุณภาพของปุ๋ยตามสูตรดังกล่าว
พล.ต.ต.ปชาเปิดเผยว่า กรณีนี้เคยมีผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรไปแจ้งความต่อตำรวจกว่า 70 ราย และจากการตรวจสอบในครั้งนี้พบว่าคนกลุ่มนี้ได้ขายปุ๋ยไปแล้วกว่า 300 กระสอบ มูลค่าความเสียหาย 1.8 ล้านบาท ซึ่งหลังการจับกุมพร้อมของกลางแล้วจะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนหาต้นตอแหล่งผลิตเพื่อเข้าทำการจับกุม และนำมาทำลายต่อไป
ในส่วนของคดีความนั้น นอกจากจะดำเนินนคดีข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอม, ร่วมกันขายปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ยังจะดำเนินคดีเพิ่มข้อหาฉ้อโกงประชาชนอีก เพราะผู้เสียหายมีเป็นจำนวนมาก และได้รับความเดือดร้อนจากการจ่ายเงินซื้อปุ๋ยปลอมไปใช้ในไร่นา ทำให้นอกจากจะเสียเงินแล้วยังทำให้ผลผลิตไม่ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ประชาชนที่เคยซื้อปุ๋ยจากคนกลุ่มนี้สามารถไปแจ้งความเพิ่มเติมได้ต่อไปอีกด้วย