xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กาญจน์เตือนนักเที่ยวป่าหน้าฝนระวังไข้มาลาเรียเล่นงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - สสจ.กาญจนบุรี เตือนนักท่องเที่ยวป่าหน้าฝนในเมืองกาญจนบุรี ให้ระวังไข้มาลาเรียเล่นงาน พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวเองจากไข้ร้ายมาลาเรีย เผยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่ อ.ไทรโยค รองลงมา อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (24 ส.ค.) นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อปรสิต สกุลพลาสโมเดียม มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม (P. falciparum) พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (P. vivax) พลาสโมเดียม มาลาริอี (P. malariae) และพลาสโมเดียม โอวาเล่ (P. ovale) และมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อจากผู้ป่วยมาลาเรียไปยังผู้อื่น

อาการของโรค ระยะแรกจะมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายปวดศีรษะมาก อาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย เพ้อกระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน จะมีเหงื่อออกชุ่มตัว

จังหวัดกาญจนบุรีมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร และมีพื้นที่ติดแนวชายแดน อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จึงอาจมีความเสี่ยงต่อโรคมาลาเรียได้ รวมทั้งมีประชาชนจำนวนมากมักเดินทางไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ และนิยมไปเที่ยวป่าเดินป่า หรือกางเต็นท์นอนตามป่า ขอให้ระมัดระวังตนเอง เนื่องจากในป่ามียุงก้นปล่องออกหากินเวลากลางคืน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้จับสั่น หรือไข้มาลาเรีย

หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน หรือที่หน่วยมาลาเรีย เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่า หรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วยเพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้

นพ.อภิชาติ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมาลาเรียของจังหวัดกาญจนบุรีว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ 1 มกราคม-22 สิงหาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียจำนวน 976 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่ อ.ไทรโยค รองลงมา อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี อัตราป่วย 927.47, 549.71 และ 219.47 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

สำหรับการป้องกันโรคมาลาเรีย ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันก่อนเข้าป่า เนื่องจากจะทำให้เข้าใจผิดว่ากินยาแล้วจะไม่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย และหากป่วยเป็นไข้มาลาเรียจริงก็จะตรวจไม่พบเชื้อ และอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปนอนแคมป์ตามป่าเขา ควรเตรียมมุ้ง หรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุงนอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำมักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งควรสุมไฟเพื่อไล่ยุง หรือจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้าเพื่อป้องกันยุงกัด

อย่างไรก็ตาม ไข้มาลาเรียมีโอกาสป่วยซ้ำได้อีกโดยมียุงก้นปล่อง ซึ่งอยู่ในป่าเขาเป็นตัวการแพร่เชื้อมาตรการสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และประชาชนทุกกลุ่มอายุ ที่อาศัยในพื้นที่ป่าเขาแนวชายแดน หรือมีสวนยางพารา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น