xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต! เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำต่ำสุดรอบ 10 ปี แล้งต่อ-เสี่ยงหยุดผลิตไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น แล้งหนักในรอบ 10 ปี ทั้งที่ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำล้นเขื่อนจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคอีสาน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ขอนแก่นแล้งหนักในรอบ 10 ปี เหลือปริมาณน้ำในเขื่อนแค่ 12 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ชี้หากระดับต่ำกว่า 175 ม.รทก.ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เร่งเจรจาลดปริมาณระบายน้ำลงท้ายเขื่อน ทั้งรอฝนตกเหนือเขื่อนช่วยเพิ่มระดับน้ำ ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิวิกฤตหนักไม่ต่างกัน เสี่ยงไม่พอผลิตน้ำประปาป้อนชาว อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น

สถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของภาคอีสานมีระดับน้ำกักเก็บต่ำสุดในรอบ 10 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ระดับน้ำอยู่ที่ระดับ 175.08 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) คิดเป็นปริมาณน้ำ 593.92 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24.43 ของปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุดที่ 182.0 ม.รทก.หรือ 2,431.30 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายทรงยศ เจิดนภาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำกักเก็บที่ 594 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24 ของความจุอ่าง โดยจะมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้เพียง 12 ล้าน ลบ.ม.เท้านั้น ถือเป็นปริมาณที่ต่ำมาก สถานการณ์ถือว่าวิกฤตหนักในรอบ 10 ปี เนื่องจากมีน้ำไหลเข้าอ่างรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ถึงวันละ 2 ล้าน ลบ.ม.

หากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ยังลดลงจนต่ำกว่าระดับ 175 ม.รทก. จะต้องหยุดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำทันที ซึ่งจะต้องซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณที่ขาดหายจากการผลิตของเขื่อนอุบลรัตน์

ขณะที่การระบายน้ำออกท้ายเขื่อนนั้น ทางชลประทานต้องการส่งน้ำให้เกษตรกรท้ายอ่างเก็บน้ำเพื่อภาคการเกษตรที่ต้องการน้ำวันละไม่ต่ำกว่า 6 ล้าน ลบ.ม. ถึงขณะนี้เขื่อนสามารถปล่อยน้ำให้ได้แค่วันละไม่ถึง 1 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องขอเจรจาต่อรองกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่นขอปล่อยน้ำแค่วันละ 5 แสน ลบ.ม. ซึ่งทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะเรียกประชุมลงมติอีกครั้งหนึ่ง

นายทรงยศยอมรับว่าการบริหารจัดการน้ำในปีนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ เนื่องจากพยากรณ์อากาศเมื่อต้นปีว่าจะมีพายุเข้า 3 ลูก ทำให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเกรงว่าน้ำจะท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าพื้นที่อีสานเจอเพียงหางพายุ มีฝนตกเล็กน้อยในเขตเมืองและพื้นที่เกษตรท้ายเขื่อน แต่ฝนไม่ตกเหนือเขื่อนทำให้น้ำไหลเข้าอ่างน้อยเกินไป

มีแนวโน้มว่าหลายจังหวัดท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากชลประทานจะต้องประสบภัยแล้งหนัก อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูสถานการณ์ฝนตกในช่วงเดือนกันยายนอีกครั้ง หากมีฝนตกหนักจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะแล้งได้

นายทรงยศกล่าวถึงสถานการณ์ที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิว่า สถานการณ์น้ำค่อนข้างวิกฤตเช่นกัน โดยปริมาณน้ำในเขื่อนจุฬาภรณ์ล่าสุดเหลืออยู่ที่ระดับ 46.09 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงแค่ 8.87 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ภาคเกษตรในเขต อ.เกษตรสมบูรณ์, อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่ใช้น้ำสาขาจากลำน้ำพรม และเขต อ.ภูผาม่าน, อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ใช้น้ำสาขาลำน้ำเชิญ ได้ขอให้เขื่อนจุฬาภรณ์ต้องการน้ำสูงถึง 9.5 ล้าน ลบ.ม.

แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจุฬาภรณ์ล่าสุดเฉลี่ยไม่ถึงวันละ 2 แสน ลบ.ม. หากจะปล่อยน้ำตามที่เกษตรกรขอมาทั้งหมดต้องประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ โดยเฉพาะจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเขต อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งปีนี้ประสบปัญหามาแล้ว 2 ครั้ง โดยเรื่องนี้จะต้องเข้าที่ประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิให้พิจารณาและสั่งการอีกครั้งหนึ่ง





นายทรงยศ เจิดนภาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น