xs
xsm
sm
md
lg

สภา อบต.เขาเจ็ดลูกให้อัคราฯ ใช้ทางสาธารณประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ -อบต.เขาเจ็ดลูกมีมติเห็นชอบ 23/1 ให้บริษัทอัครา ไมนิ่ง ใช้ทางสาธารณประโยชน์ที่ปิดตายมากว่า 8 ปีแล้ว สำหรับโครงการขยายบ่อเก็บกากแร่แห่งใหม่ หลังประชาคมแล้วชาวบ้านเห็นชอบท่วมท้น ผู้ว่าฯ พิจิตรชี้ ผลดีจากการที่อัคราฯ เข้ามาลงทุนทำเหมืองทองก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ช่วยเศรษฐกิจพิจิตรดีขึ้น

นายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก (อบต.เขาเจ็ดลูก) จังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก และอำเภอทับคล้อได้จัดทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 8 ตำบลเขาเจ็ดลูก เรื่องที่บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อประกอบการทิ้งมูลดินทรายและเก็บขังน้ำขุ่น บริเวณพื้นที่บ้านหนองระมาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม สภา อบต.เขาเจ็ดลูกได้ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว และที่ประชุมมีมติรับทราบ และเห็นชอบผลประชาคมดังกล่าวทั้งหมด 23 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง ซึ่งหลังจากการประชุมแล้วจะต้องให้สมาชิกสภา อบต.เขาเจ็ดลูกลงนามก่อนจึงจะทำรายงานเสนอทางอำเภอทับคล้อต่อไป

ทั้งนี้ ผลจากการจัดทำประชามติออกเสียง โดยมีผู้ใช้สิทธิออกเสียงของหมู่ 3 บ้านเขาดิน และหมู่ 8 บ้านนิคม จำนวน 840 คนนั้น มีผู้ใช้สิทธิออกเสียงเห็นชอบจำนวนทั้งสิ้น 560 คน ผู้ใช้สิทธิออกเสียงไม่เห็นชอบจำนวนทั้งสิ้น 269 คน และจำนวนบัตรเสียทั้งสิ้น 11 บัตร

ด้านนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ได้รับทราบรายงานในเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินการประชาคมการใช้ทางสาธารณะสำหรับโครงการขยายการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ในการทำบ่อเก็บกากแร่แห่งใหม่เนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ของบริษัทอัคราฯ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทอัคราฯ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายงานผลการประชุมของ อบต.เขาเจ็ดลูกมายังจังหวัดรับทราบอย่างเป็นทางการ

“การลงทุนทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา ไมนิ่งนั้นส่งผลดีต่อจังหวัดพิจิตร เพราะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนเศรษฐกิจของจังหวัดพิจิตรให้ดีขึ้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรกล่าว

ที่ผ่านมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษายกคำร้องของกลุ่มผู้คัดค้านที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ได้ทำเหมืองแร่ทองคำสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจนได้รับความเดือดร้อน หลังจากได้ไต่สวนและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่าการดำเนินการของบริษัทอัคราฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์อย่างรุนแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องที่ฟ้องขอให้สั่งระงับการที่บริษัทอัคราฯ จะมีการสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2  เพื่อรองรับการขยายโรงงาน โดยอ้างว่าจะไปก่อสร้างทับทางสาธารณประโยชน์สายนาตาหวาย-อ่างหิน ที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาจึงเป็นเหตุให้เดือดร้อน จึงขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองและขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ นั้น ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องอีกเช่นกันและให้ถือคดีเป็นที่สุด

ทั้งนี้ เพราะบริษัทอัคราฯ ดำเนินการถูกต้องทุกประการ และทางสาธารณะดังกล่าวอยู่ในที่ดินของบริษัทอัคราฯ ซึ่งมีโฉนดถูกต้อง ถูกปิดตายมา 8 ปี ไม่มีผู้ใช้เส้นทางที่เดิมเป็นทางเกวียนที่เจ้าของที่ดินสร้างขึ้นและใช้ประโยชน์เอง และเป็นทางตันที่ไม่ได้ไปเชื่อมต่อกับทางหลวงสาย 1301 แต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น